ไม่ได้หลอกลวงผู้เสียหายโดยตรง มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 12 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 17,753,641.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามกฎหมายให้แก่ผู้เสียหาย โดยให้คืนหรือใช้เงิน แต่ละรายตามรายละเอียดและจำนวนเงินที่ปรากฏในคำฟ้อง ข้อ 1.1 ถึง 1.11
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 (ที่ถูก มาตรา 343 วรรคแรก) พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคสอง, 5 (1), 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน 11 กระทง รวมจำคุก 22 ปี 66 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 17,353,461.17 บาท ให้แก่ผู้เสียหายรายละเอียดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.4 และข้อ 1.6 ถึง 1.11 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่นางเฟื่องฟ้า ผู้เสียหาย ตามฟ้องข้อ 1.5 เป็นเงิน 343,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 343,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ (ฟ้องวันที่ 27 มกราคม 2554) ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 และผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 11 และยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 และผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 11 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.4 และข้อ 1.6 ถึงข้อ 1.11 ด้วยหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับนายทองหลาง และพวกรวม 4 คน จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.482/2549 ของศาลชั้นต้น และพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม คือ ฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวม 11 กรรม มีผู้เสียหาย 11 คน ตามลำดับฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.11 จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 และมาตรา 5 มีโทษตามมาตรา 12 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง คดีนี้ความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษได้ แม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่าจำเลยพูดหลอกลวงชักชวนนางเฟื่องฟ้า ผู้เสียหายที่ 5 เพียงคนเดียวให้เข้าร่วมลงทุน ส่วนผู้เสียหายอื่นถูกผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นพูดหลอกลวงชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน แต่ความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน องค์ประกอบสำคัญ คือ มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน องค์ประกอบสำคัญคือ ผู้กระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปในการกู้ยืมเงิน ผู้ร่วมกระทำความผิดอาจกระทำการในลักษณะแบ่งงานกันทำ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเอง เพียงจำเลยกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 5 โดยแนะนำตนเองว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหาร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พาผู้เสียหายที่ 5 เดินชมสถานที่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 30 คน นั่งประจำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องจนผู้เสียหายที่ 5 หลงเชื่อและมอบเงินให้จำเลย ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 11 ก็ถูกพวกของจำเลยหลอกลวงในทำนองเดียวกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันหลอกลวงประชาชนและกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยแบ่งงานกันทำกับพวกของจำเลย เป็นผลให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อ และมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนทั้งสิบเอ็ดกระทงตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่ 5 เพียงกระทงเดียวนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยต้องคืนแก่ผู้เสียหายที่ 5 ด้วยนั้นชอบแล้ว เพราะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 11 จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงินแก่ผู้เสียหายทุกคนด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยต้องคืนแก่ผู้เสียหายแต่ละคน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายแต่ละคนด้วย
สรุป
แม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่าจำเลยพูดหลอกลวงชักชวน ป. ผู้เสียหายที่ 5 เพียงคนเดียวให้เข้าร่วมลงทุน ส่วนผู้เสียหายอื่นถูกผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นพูดหลอกลวงชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน แต่ความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบสำคัญคือ มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้กระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันโฆษณาหรือประกาศต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปในการกู้ยืมเงิน ผู้ร่วมกระทำความผิดอาจกระทำการในลักษณะแบ่งงานกันทำ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเอง เพียงจำเลยกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 5 โดยแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหารและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พาผู้เสียหายที่ 5 เดินชมสถานที่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 30 คน นั่งประจำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องจนผู้เสียหายที่ 5 หลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลย ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถึง 4 และที่ 6 ถึงที่ 11 ก็ถูกพวกจำเลยหลอกลวงในทำนองเดียวกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันหลอกลวงประชาชนและกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยแบ่งงานกันทำกับพวกจำเลย เป็นผลให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนทั้งสิบเอ็ดกระทงตามฟ้อง
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยต้องคืนแก่ผู้เสียหายที่ 5 ด้วยนั้นชอบแล้ว เพราะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิด จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงินแก่ผู้เสียหายทุกคนด้วย