ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ผิดฉ้อโกงได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2529
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267ซึ่งเป็นกรรมเดียวกัน และมาตรา 341 รวมสองกระทง จำคุกคนละ 1 ปีปรับคนละ 4,000 บาท รอการลงโทษไว้ 2 ปี โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกล่าวหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คงมีคำสั่งประทับฟ้องเฉพาะข้อหาตามมาตรา 341, 137, 267, 83, 90 และ 91ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบพอสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2ได้ตกลงขายเครื่องจักรผลิตปุ๋ยเคมีให้โจทก์จำนวน 9 เครื่องโจทก์ได้ชำระราคาครบถ้วนและรับมอบเครื่องจักรจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 แล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อมาจำเลยทั้งสองได้สมคบกันด้วยเจตนาทุจริต โดยจำเลยที่ 1ได้กล่าวเท็จหลอกลวงโจทก์ขอรับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร อ้างว่าจะนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลางเพื่อให้มีการตรวจสอบเครื่องหมายและหมายเลขเครื่องจักรทั้ง 9 เครื่องดังกล่าว ซึ่งความจริงมิได้มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแต่ประการใด โจทก์หลงเชื่อจึงมอบหนังสือสำคัญการจดทะเบียนเครื่องจักรให้จำเลยที่ 1 ไป แล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงาน จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรทั้ง 9 เครื่องให้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ผู้โอนกระทำในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานปุ๋ยผลดีอุตสาหกรรมในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นความเท็จเพราะจำเลยที่ 2ได้โอนหุ้นให้โจทก์หมดแล้ว แต่ยังมิได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นผู้จัดการ
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ได้มาติดต่อขอซื้อเครื่องจักร9 เครื่องจากจำเลยที่ 2 โดยเอารถยนต์โตโยต้าหนึ่งคันตีราคาหนึ่งแสนบาทมาวางเป็นค่ามัดจำ ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาโดยเช็คที่โจทก์ออกให้ชำระค่าเครื่องจักรที่เหลือขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์ยอมให้จำเลยริบรถยนต์ที่วางมัดจำไว้นายกาสะลองสามีจำเลยที่ 1 มาซื้อเครื่องจักรจากจำเลยที่ 2 เมื่อได้มีการเจรจาตกลงกันแล้ว จำเลยที่ 2จึงได้โอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรทั้ง 9 เครื่องให้กับจำเลยที่ 1พร้อมทั้งมอบหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้กับจำเลยที่ 1 ไปการกระทำของจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริตมิได้ใช้อุบายหลอกลวงโจทก์แต่ประการใด
ในเบื้องต้นเห็นสมควรพิจารณาก่อนว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องจักรอันเป็นมูลให้เกิดข้อกล่าวหากันในทางอาญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้นั้นได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพย์ชนิดนี้ไว้อย่างไร
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักรพ.ศ. 2514 มาตรา 3 ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “จดทะเบียนเครื่องจักร”หมายถึงการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ หรือการจดทะเบียนนิติกรรมอย่างอื่นในภายหลัง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าเครื่องจักรใดเมื่อได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้วย่อมสามารถนำไปจดทะเบียนนิติกรรมประเภทอื่นได้ด้วยเช่นการจดทะเบียนจำนองหรือขายฝากตามมาตรา 5 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนอกจากนี้มาตรา 12 ก็บัญญัติว่า ในกรณีที่เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้แล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญไปจากรายการที่ได้จดทะเบียนไว้ให้ผู้ถือหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเกี่ยวกับเครื่องจักรนำหนังสือสำคัญการจดทะเบียนมาขอจดทะเบียนใหม่ต่อนายทะเบียนที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้น ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น หากมีการจดทะเบียนนิติกรรมในลักษณะใดก็ย่อมต้องบังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนั้น ๆและถือว่าเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้วย่อมเปลี่ยนสถานะจากสังหาริมทรัพย์ธรรมดากลายมาเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ การโอนกรรมสิทธิ์จึงต้องทำการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 ด้วยมิฉะนั้นถือว่าไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น โดยผลของกฎหมายดังกล่าวตราบใดที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ยังมิได้ทำการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์คือเครื่องจักรจึงยังไม่เปลี่ยนมือไปยังโจทก์และจากข้อเท็จจริงตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ก็ยอมรับว่าการซื้อขายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียน ดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปพูดหลอกลวงโจทก์เพื่อขอรับหนังสือสำคัญการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร และโจทก์หลงเชื่อจึงมอบหนังสือสำคัญดังกล่าวให้ไปอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้นหากความจริงจะเป็นดังโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ยังไม่เข้าองค์ประกอบเป็นความผิด เพราะหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้นเป็นของจำเลยที่ 2 ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 2นำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรให้จำเลยที่ 1 ต่อเจ้าพนักงานจึงมิใช่เป็นการแจ้งความเท็จ หรือกล่าวเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งข้อความลงในเอกสารตามที่โจทก์กล่าวหา และสำหรับหุ้นที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้โอนให้โจทก์หมดแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานปุ๋ยผลดีอุตสาหกรรมนั้น เห็นว่าโดยนิตินัยจำเลยที่ 2 ยังคงอยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 ไปทำนิติกรรมโอนขายเครื่องจักรในนามของห้างฯ ขายให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นเรื่องโต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่งเท่านั้นหามีมูลเป็นความผิดทางอาญาแต่ประการใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไปอีก”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สรุป
จำเลยที่ 2 ขายเครื่องจักรผลิตปุ๋ยเคมีซึ่งมีหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้โจทก์ โจทก์ชำระราคาครบถ้วนและรับมอบเครื่องจักรแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 ด้วย ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์คือเครื่องจักรจึงยังไม่เปลี่ยนมือไปยังโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปพูดหลอกลวงโจทก์เพื่อขอรับหนังสือสำคัญการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและโจทก์หลงเชื่อมอบหนังสือดังกล่าวให้ไป การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงเพราะหนังสือนั้นเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2นำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรให้จำเลยที่ 1ต่อเจ้าพนักงานจึงมิใช่เป็นการแจ้งความเท็จหรือกล่าวเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งข้อความลงในเอกสารอันจะเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,267 จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้โจทก์หมดแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดแทน จำเลยที่ 2 ยังคงอยู่ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ การที่จำเลยที่ 2 ไปทำนิติกรรมโอนขายเครื่องจักรในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137