Home บทความคดีแพ่ง ถ้อยคำท้ายคำแก้อุทธรณ์ ไม่เหมาะสม ผิดหมิ่นประมาทได้หรือไม่

ถ้อยคำท้ายคำแก้อุทธรณ์ ไม่เหมาะสม ผิดหมิ่นประมาทได้หรือไม่

2648

ถ้อยคำท้ายคำแก้อุทธรณ์ ไม่เหมาะสม ผิดหมิ่นประมาทได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2496

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำคำแก้อุทธรณ์มีข้อความหมิ่นประมาททนายอมร อินทรกำแหง ซึ่งเป็นอัยการจังหวัด

นครสวรรค์ ขอให้ลงโทษตามก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๑๖.

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์.

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน.

โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมาย.

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่ากฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๘๕ นั้น เป็นบทยกเว้นโทษให้แก่คู่ความเพื่อเปิดโอกาศให้คู่ความได้ดำเนินคดีได้เต็มที่ แม้คำว่าหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๑๖ มีความหมายกว้างกว่า คำว่าหมิ่นประมาทตามมาตรา ๒๘๒ แต่การหมิ่นประมาทตามมาตรา ๒๘๒ ก็เป็นมูลฐานของความผิดตามมาตรา ๑๑๖ ด้วยมูลหนึ่ง คือถ้ามีการหมิ่นประมาทตามมาตรา ๒๘๒ และผู้ถูกหมิ่นประมาทเป็นเจ้าพนักงาน ผู้หมิ่นประมาทก็อาจผิดตามมาตรา ๑๑๖ ได้ ฉะนั้นเมื่อมาตรา ๒๘๕ ยกเว้นโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทในมาตรา ๒๘๒ อันเป็นมูลฐานแล้ว จึงย่อมจะยกเว้นโทษหมิ่นประมาทตามมาตรา ๑๑๖ ด้วยในเมื่อการหมิ่นประมาทนั้นมีมูลฐานมาจากความผิดตามมาตรา ๒๘๒.

ถ้อยคำของจำเลยที่ใช้ในคำแก้อุทธรณ์ตามสำเนาท้ายฟ้องของโจทก์ อันเป็นมูลให้โจทก์ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า แม้ถ่อยคำที่จำเลยใช้ในคำแก้อุทธรณ์นั้นจะไม่สมควรหลายแห่ง ซึ่งจำเลยอาจจะกล่าวให้ได้ความเช่นเดียวกันได้ด้วยถ้อยคำสุภาพกว่าเก่า แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ได้รับความยกเว้นของมาตรา ๒๘๕.

จึงพิพากษายืน.

สรุป

ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 285 นั้น เป็นบทยกเว้นโทษให้แก่คู่ความ เพื่อเปิดโอกาศให้คู่ความได้ดำเนินคดีได้เต็มที่ และเป็นข้อยกเว้นโทษของมาตรา 116 ด้วย ถ้าการหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานตามมาตรา 116 นั้น มีมูลฐานมาจากความผิดตามมาตรา 282.

จำเลยแก้อุทธรณ์ที่อัยการโจทก์อุทธรณ์ แม้ถ้อยคำที่จำเลยใช้ในคำแก้อุทธรณ์นั้น จะไม่สมควรหลายแห่ง แต่เมื่อยังเป็นเรื่องที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 285 แล้ว จำเลยก็ยังไม่ผิด./

Facebook Comments