Home บทความคดีแพ่ง ข้อความที่พูดเป็นการใส่ความในตัวอยู่แล้ว ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงจากการแปลเพื่อลงโทษจำเลยอีกหรือไม่

ข้อความที่พูดเป็นการใส่ความในตัวอยู่แล้ว ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงจากการแปลเพื่อลงโทษจำเลยอีกหรือไม่

809

ข้อความที่พูดเป็นการใส่ความในตัวอยู่แล้ว ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงจากการแปลเพื่อลงโทษจำเลยอีกหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2472

คดีนี้ศาลเดิมแลศาลอุทธรณ์ตัดสินต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์ที่หาว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ว่า หลวงยุทธสารฯ เป็นคนโกงเอาสัญญาปลอมมาฟ้องนายดาวกระจาย จะต้องฟ้องให้หลวงยุทธสารฯ ติดคุกไม่ต่ำกว่า ๓ ปี นั้นยังไม่มีผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ม.๒๘๒ โดยศาลเดิมไม่เชื่อพะยานโจทก์ว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำดังนั้น แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้จำเลยจะกล่าวจริง ก็เป็นใจความที่จำเลยแสดงความคิดเห็นโดยชอบธรรม โจทก์ฎีกาอ้างว่าเป็นปัญหาในข้อกฎหมายต่อมา จึงมีปัญหาว่าจะควรรับฎีกาไว้พิจารณาหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า การวินิจฉัยข้อความที่พูดหรือเขียนว่าจะเป็นหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา ม.๒๘๒ หรือไม่นั้น ในชั้นต้นเป็นปัญหาในข้อกฎหมายซึ่งศาลจะต้องแปลว่าเป็นการใส่ความเขาอันอาจจะให้เสียชื่อเสียงหรืออาจให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่ ถ้าตามข้อความเห็นได้ว่าเป็นการใส่ความแล้ว รูปคดีก็เข้าในลักษณความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยไม่ต้องฟังข้อเท็จจริงใด ๆ ในการแปลนั้น แต่ถ้าข้อความนั้นยังไม่พอเป็นการใส่ความแล้ว คดีมีเหตุผลซึ่งจะทำให้ผู้ฟังผู้อ่านแปลความเป็นพิเศษออกไป จนถึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทเขาหรือไม่แล้ว เป็นปัญหาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องพิจารณาจากพะยานหลักฐานในสำนวน

ในคดีนี้ข้อความที่จำเลยพูดเป็นข้อความใส่ความหมิ่นประมาทอยู่ในตัวพอแล้ว ไม่ต้องมีเหตุผลพิเศษมาประกอบฎีกาของโจทก์จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันควรรับไว้พิจารณา แลถ้าตามหลักฐานพะยานฟังได้ว่า จำเลยกล่าวข้อความนั้นแก่บุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปแล้ว รูปคดีก็เป็นผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ม .๒๘๒ แต่ศาลอุทธรณ์ยังหาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันนี้ไม่ จึงตัดสินยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และย้อนสำนวนให้พิจารณาพิพากษาใหม่ตามกฎหมายที่กล่าวข้างต้น

สรุป

ข้อความที่พูดหรือเขียนเป็นการใส่ความอยู่ในตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงในการแปลข้อความมาประกอบก็เข้าลักษณะความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ถ้ายังไม่พอฟังว่าเป็นการใส่ความกันก็ต้องฟังเหตุผลว่าผู้ฟังผู้อ่านแปลความเป็นพิเศษออกไปจนถึงว่าเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทจึงจะมีความผิด พ.ร.บ.ฎีกาอุทธรณ์ การวินิจฉัยว่าข้อความที่พูดหรือเขียนจะเป็นผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยพะยานหลักฐานในสำนวนว่าผู้ฟังผู้อ่านแปลข้อความนั้นเป็นพิเศษออกไปจนถึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทเขาหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เทียบฎีกาที่ 179/2465 ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินข้อเท็จจริงใหม่

Facebook Comments