Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ไม่พอใจบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นำคดีมาฟ้องอีกได้หรือไม่

ไม่พอใจบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นำคดีมาฟ้องอีกได้หรือไม่

1969

ไม่พอใจบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นำคดีมาฟ้องอีกได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2563

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157จำเลยให้การรับสารภาพระหว่างพิจารณา นาย ป. โดยนางสาว ห. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายทานตะวันผู้ตายรับรองว่าเป็นบุตรยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 63,580 บาท ค่ารักษาพยาบาล 17,453 บาท และค่าขาดไร้อุปการะปีละ 150,000 บาท จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะเป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 681,033 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 1 และนางกระโดน ผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดานายลั่นทมผู้ตายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 120,790 บาท และค่าขาดไร้อุปการะปีละ 50,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี เป็นเงิน 750,000 บาท รวมเป็นเงิน 870,790 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 2จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้องศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดและการบรรเทาผลร้ายแล้ว เห็นว่า จำเลยร่วมกับผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถคันที่จำเลยขับได้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง โดยผู้ร้องที่ 1 รับค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจำนวน 600,000 บาท ผู้ร้องที่ 2 รับค่าสินไหมทดแทนไปแล้วเป็นเงิน 450,000 บาท ถือว่าจำเลยได้ขวนขวายบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องทั้งสองไปแล้วบางส่วนตามสมควร จึงเชื่อว่าจำเลยสำนึกในการกระทำความผิด ประกอบกับจำเลยประกอบอาชีพสุจริต ไม่มีประวัติการต้องโทษในคดีอาญามาก่อน หากให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีและให้โอกาสจำเลยในการออกไปประกอบอาชีพ เพื่อมีรายได้นำมาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองต่อไป จะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม จึงรอการลงโทษให้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ภายในเวลา 1 ปี ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรรวมเวลา 48 ชั่วโมง เข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยชำระเงินให้แก่ผู้ร้องที่ 1 จำนวน 647,280 บาท ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 870,790 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 10 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ทั้งนี้ ในเวลาที่มีการบังคับตามคำพิพากษานี้ให้นำเงินที่ผู้ร้องทั้งสองได้รับไปแล้ว มาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนดให้แก่ผู้ร้องทั้งสองด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ)จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับจำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า บันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้มูลหนี้ละเมิดระหว่างผู้ร้องที่ 2 กับจำเลยระงับไปหรือไม่นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าประเด็นนี้ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยหรือไม่ ในข้อนี้ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ระบุว่า จำเลยและนายชงโค ตัวแทนบริษัทธนชาต ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาศาล นายชงโคแถลงว่าจำเลยกับญาติผู้ตายทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความค่าเสียหายส่วนแพ่งที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา โดยบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาว ห. ภริยานายมะนาวผู้ตายจำนวน 600,000 บาท และจ่ายให้แก่ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 450,000 บาท ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2561 ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในส่วนแพ่งว่า ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนนั้น จำเลยและบริษัทผู้รับประกันภัยค้ำจุนร่วมกันชดใช้ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองแล้ว ชั้นสืบพยานในส่วนแพ่งในศาลชั้นต้น จำเลยได้นำบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 ประกอบการถามค้านผู้ร้องทั้งสองอีกด้วย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกการเจรจาตกลงไว้ในคำให้การส่วนแพ่งแล้วมิใช่จะให้การเฉพาะค่าสินไหมทดแทนสูงเกินส่วน การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกบันทึกการเจรจาตกลงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ข้ออุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงไม่รับวินิจฉัยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อพิจารณาตามบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความว่า จำเลยยอมรับผิดในการทำละเมิดเป็นเหตุให้นายลั่นทมผู้ตายถึงแก่ความตายกับยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท โดยผู้ร้องที่ 2 ระบุว่า ไม่ประสงค์จะฟ้องร้องให้ดำเนินคดีใดและเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ เพิ่มเติมกับจำเลยอีกต่อไป ที่ผู้ร้องที่ 2 อ้างว่าลงชื่อในเอกสารหมาย ล.1 โดยไม่มีข้อความนั้นคงมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ทั้งที่บันทึกดังกล่าวจัดทำที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาต่อหน้าพนักงานสอบสวน โดยมีพนักงานสอบสวนรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ซึ่งศาลชั้นต้นนำมาวินิจฉัยรับฟังผู้ร้องที่ 2 มิได้โต้แย้งคัดค้านจึงรับฟังได้ตามเอกสารดังกล่าว เมื่อบันทึกฉบับนี้มีข้อความว่าผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 450,000 บาท จากตัวแทนของจำเลย ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ได้แก่ ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ อีกด้วย และวรรคสาม ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุในเอกสารหมาย ล.1 จึงรวมกับค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตลอดจนค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของนายลั่นทมผู้ตายแล้วเมื่อผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินตามบันทึกการเจรจาและไม่ประสงค์ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ จากจำเลยอีก ทำให้สิทธิเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ตามลักษณะประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ซึ่งมีผลให้ผู้ร้องที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดจากจำเลยได้อีก ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นระบุว่า จำเลยและ ส. ตัวแทนบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาศาล ส. แถลงว่าจำเลยกับญาติผู้ตายทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความค่าเสียหายส่วนแพ่งที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา โดยบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ห. ภริยาของ ว. ผู้ตาย จำนวน 600,000 บาท และจ่ายให้แก่ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 450,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในส่วนแพ่งว่า ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนนั้น จำเลยและบริษัทผู้รับประกันภัยค้ำจุนร่วมกันชดใช้ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองแล้ว ชั้นสืบพยานในส่วนแพ่งในศาลชั้นต้น จำเลยได้นำบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มาประกอบการถามค้านผู้ร้องทั้งสอง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกการเจรจาตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 ไว้ในคำให้การส่วนแพ่งแล้ว มิใช่จะให้การเฉพาะค่าสินไหมทดแทนสูงเกินส่วน การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกบันทึกการเจรจาตกลงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้วเมื่อพิจารณาตามบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความว่า จำเลยยอมรับผิดในการทำละเมิดเป็นเหตุให้ อ. ผู้ตายถึงแก่ความตายกับยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท โดยผู้ร้องที่ 2 ระบุว่า ไม่ประสงค์จะฟ้องร้องให้ดำเนินคดีใดและเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ เพิ่มเติมกับจำเลยอีกต่อไป เมื่อบันทึกฉบับนี้มีข้อความว่าผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 450,000 บาท จากตัวแทนของจำเลย ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ อีกด้วย และวรรคสาม ถ้าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุในเอกสารหมาย ล.1 จึงรวมกับค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตลอดจนค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของ อ. ผู้ตายแล้ว เมื่อผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินตามบันทึกการเจรจาและไม่ประสงค์ฟ้องร้องค่าสินไหมทดแทนใด ๆ จากจำเลยอีก ทำให้สิทธิเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ตามลักษณะประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมีผลให้ผู้ร้องที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดจากจำเลยได้อีก

Facebook Comments