วันที่ถือเป็นสาระสำคัญของคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 89-90/2513
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาแยกกัน ในชั้นฎีกานางมะพร้าว สาตมาลี ในฐานะโจทก์ในสำนวนคดีแรกและในฐานะจำเลยในสำนวนคดีหลังยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตและเนื่องจากนางจำปา จำเลยในสำนวนคดีแรกเป็นบุคคลคนเดียวกับนางเทียนกิ่ง โจทก์ในสำนวนคดีหลัง ดังนั้นเพื่อสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีชั้นศาลฎีกานี้ ศาลฎีกาจะเรียกชื่อจำเลยในสำนวนคดีแรกเป็นนางเทียนกิ่ง
สำนวนคดีแรก นางมะพร้าว สาตมาลี ได้เป็นโจทก์ฟ้องนางเทียนกิ่ง เป็นจำเลยว่าออกเช็คโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็คและออกเช็คโดยรู้อยู่แล้วว่า ในขณะออกเช็คนั้นไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้ ขอให้ลงโทษนางเทียนกิ่งจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา
นางเทียนกิ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาสำนวนคดีแรกแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า นางเทียนกิ่งจำเลยออกเช็ครายพิพาทให้นางมะพร้าวโจทก์ มิใช่เพื่อชำระหนี้ แต่เพื่อให้นางมะพร้าวโจทก์ไปหาเงินมาใช้หนี้ธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาวัดตึกดังนั้นนางเทียนกิ่งจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 พิพากษายกฟ้อง
นางมะพร้าว สาตมาลีโจทก์อุทธรณ์
ในระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาสำนวนคดีแรกอยู่นี้ นางเทียนกิ่ง จำเลยกลับเป็นโจทก์ฟ้องนางมะพร้าว สาตมาลีโจทก์โดยกล่าวหาว่านางมะพร้าว สาตมาลี จำเลยเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องนางเทียนกิ่งโจทก์ว่ากระทำความผิดอาญาตามสำนวนคดีแรก ขอให้ลงโทษนางมะพร้าวจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งคดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาเช่นเดียวกันกับสำนวนคดีแรก
นางมะพร้าว สาตมาลีจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาสำนวนคดีหลังนี้แล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า นางเทียนกิ่งโจทก์ออกเช็ครายพิพาทให้นางมะพร้าวจำเลย โดยตกลงกันไว้ว่าเมื่อหนี้จำนองนางเงิน ให้นางมะพร้าวจำเลยนำเช็ครายพิพาทไปขึ้นเงินที่ธนาคาร เอามาชำระหนี้นางเงิน ครั้นเมื่อหนี้จำนองถึงกำหนดนางมะพร้าวจึงนำเช็ครายพิพาทไปเข้าบัญชีธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นางมะพร้าวจำเลยจึงได้นำเช็ครายพิพาทมาฟ้องเช่นนี้จะฟังว่าฟ้องของนางมะพร้าวจำเลยตามสำนวนคดีแรกเป็นความเท็จไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
นางเทียนกิ่งโจทก์ในสำนวนคดีหลังอุทธรณ์เช่นเดียวกัน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเช็ครายพิพาทนี้นางเทียนกิ่งจำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้แก่นางมะพร้าวโจทก์ และนางมะพร้าวโจทก์ได้นำเช็ครายพิพาทนี้ไปขึ้นเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีของนางเทียนกิ่งจำเลยไม่พอจ่าย เช่นนี้นางเทียนกิ่งจำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) ให้จำคุกนางเทียนกิ่ง จำเลยไว้มีกำหนด 6 เดือน
ส่วนสำนวนคดีหลัง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นางเทียนกิ่งโจทก์ได้ออกเช็ครายพิพาทให้นางมะพร้าวจำเลย เพื่อนำไปขอกู้เงินผู้อื่นโดยยังไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่าย นางเทียนกิ่งโจทก์หาได้ออกเช็ครายพิพาทนี้เพื่อชำระหนี้แก่นางมะพร้าวจำเลยไม่ ดังนั้นการที่นางมะพร้าวจำเลยนำเช็ครายพิพาทมาฟ้องนางเทียนกิ่งโจทก์ต่อศาลอาญาฐานออกเช็คโดยมีเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฯลฯ เช่นนี้ ฟ้องของนางมะพร้าวจำเลยในสำนวนคดีแรกจึงเป็นฟ้องเท็จ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่านางมะพร้าวจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ให้จำคุกนางมะพร้าวจำเลยไว้มีกำหนด 6 เดือน
นางเทียนกิ่ง จำเลยในสำนวนคดีแรก และนางมะพร้าว สาตมาลีจำเลยในสำนวนคดีหลังฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นางเทียนกิ่งจำเลยได้ออกเช็ครายพิพาทให้นางมะพร้าวโจทก์เป็นการชำระหนี้เพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่นางมะพร้าวโจทก์จะต้องเสียไป เพราะเหตุที่เอาที่ดินไปจำนองค้ำประกันหนี้ของนายการะเกดสามีของนางเทียนกิ่งจำเลย แต่ยังมิได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คและนางมะพร้าวโจทก์ได้กรอกวันที่สั่งจ่ายลงในเช็คเอาเองโดยมิได้แจ้งให้นางเทียนกิ่งจำเลยทราบ เห็นว่าลักษณะความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือฐานออกเช็คโดยรู้อยู่แล้วว่าในขณะออกเช็คไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สารสำคัญของความผิดทั้ง 2 ฐานนี้อยู่ที่วันออกเช็ค คือวันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าเช็ครายใดผู้ออกเช็คไม่ได้ลงวันที่ออกเช็คก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้ออกเช็คทราบได้ว่า จะให้มีการใช้เงินตามเช็คในวันใด ซึ่งวันนั้นผู้ออกเช็คจะได้เตรียมเงินไว้ในบัญชีที่ธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คนั้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เช็คที่ไม่มีวันออกเช็ค ถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำผิด สัญญาจำนองที่นางมะพร้าวโจทก์ทำกับนางเงินก็มิได้มีกำหนดเวลาการใช้เงิน ดังนั้นจะเกณฑ์ให้ผู้ออกเช็คต้องรับผิดมีเงินอยู่ในธนาคารตลอดเวลาย่อมไม่ได้ จริงอยู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบกับมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ทรงเช็คเช่นนี้ เพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น แต่หามีผลที่จะลงโทษผู้ออกเช็คในทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 อนุมาตรา (1) และ (2) ไม่ การกระทำของนางเทียนกิ่งจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่นางมะพร้าวเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษนางเทียนกิ่งจำเลย
ส่วนสำนวนคดีหลังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางเทียนกิ่งโจทก์ออกเช็ครายพิพาทฉบับนี้ให้นางมะพร้าวจำเลย เป็นการชำระหนี้เพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่นางมะพร้าวจำเลยจะต้องเสียไป เพราะเหตุที่นางมะพร้าวจำเลยเอาโฉนดที่ 5976 ไปจำนองค้ำประกันหนี้ของนายการะเกดสามีของนางเทียนกิ่งโจทก์ แม้เช็ครายพิพาทจะไม่มีวันสั่งจ่าย นางมะพร้าวจำเลยก็มีสิทธิเข้าใช้สิทธินั้นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 และมาตรา 989 ที่จะลงวันที่สั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงในเช็คได้ เมื่อเช็คฉบับนั้นมีรายการสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว นางมะพร้าวจำเลยนำเช็คไปขึ้นเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของนางเทียนกิ่งโจทก์ไม่พอจ่าย นางมะพร้าวจำเลยจึงได้นำเช็ครายพิพาทไปฟ้องขอให้ศาลลงโทษนางเทียนกิ่งโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จริงอยู่แม้การกระทำของนางเทียนกิ่งโจทก์จะไม่เป็นความผิดตามที่นางมะพร้าวจำเลยกล่าวหา เพราะเช็ครายพิพาทไม่ได้ลงวันออกเช็คในขณะที่นางเทียนกิ่งโจทก์มอบเช็คให้นางมะพร้าวจำเลยไปก็ตาม แต่ก็มีเหตุอันทำให้นางมะพร้าวจำเลยเข้าใจผิดได้ว่า การกระทำของนางเทียนกิ่งโจทก์ในกรณีเช่นนี้เป็นความผิดฐานออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คแล้ว เหตุที่ทำให้นางมะพร้าวจำเลยเข้าใจผิด คือสิทธิของผู้ทรงเช็คในอันที่จะลงวันออกเช็คในเช็ครายพิพาทได้ ดังนั้นการกระทำของนางมะพร้าวจำเลยที่กระทำไปตามสำนวนคดีแรก จะถือว่านางมะพร้าวจำเลยนำความอันเป็นเท็จมาฟ้องนางเทียนกิ่งโจทก์ต่อศาลว่า กระทำผิดอาญาหาได้ไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษนางมะพร้าวจำเลยในสำนวนคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 นั้น ศาลฎีกาก็ไม่เห็นพ้องด้วยเช่นเดียวกัน
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยพิพากษายกฟ้องของนางมะพร้าว สาตมาลีโจทก์ในสำนวนคดีแรกและยกฟ้องนางเทียนกิ่ง โจทก์ในคดีหลัง