Home บทความคดีแพ่ง สั่งจ่ายเช็คพิพาท เพื่อยืนยันความรัก เช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

สั่งจ่ายเช็คพิพาท เพื่อยืนยันความรัก เช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

1177

สั่งจ่ายเช็คพิพาท เพื่อยืนยันความรัก เช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3814/2533

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ออกเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเชียงใหม่ เลขที่ 2869325 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2529 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท มอบให้โจทก์โดยเสน่หา เพื่อตอบแทนในการที่โจทก์ยอมสมรสกับจำเลย ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2529 โจทก์นำเช็คนั้นไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 6 เดือน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระ โจทก์ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยฎีกาในข้อนี้ว่า การที่โจทก์รับเช็คพิพาทจากจำเลยไว้นั้นเป็นการรับสินจ้างตอบแทนในการที่โจทก์ให้จำเลยร่วมประเวณีการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์มีอาชีพรับราชการครู ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีความประพฤติเสื่อมเสียในทางเพศกับชายอื่นทั่วไป ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นสินจ้างตอบแทนในการที่โจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีดังที่จำเลยอ้าง สำหรับสาเหตุที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้นได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่าจำเลยรักใคร่ชอบพอโจทก์ ในคืนที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้น จำเลยบอกว่ารักโจทก์ จะไม่หลอกลวงและจะไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ของโจทก์ในเร็ววัน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจำเลยรักโจทก์จริงจำเลยจึงออกเช็คพิพาทให้ไว้ และเมื่อจำเลยมอบเช็คพิพาทให้โจทก์แล้วจำเลยได้บอกโจทก์อีกด้วยว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินส่วนตัวที่เก็บสะสมไว้ หากจำเลยไม่รักจริงก็จะไม่ยอมให้โจทก์ ที่ให้เช็คพิพาทแก่โจทก์ก็ด้วยความรักและเสน่หา ต้องการให้โจทก์เป็นภรรยาจำเลย นอกจากนี้คดียังได้ความจากคำเบิกความของนางทองหลาง มารดาของโจทก์และนางกระดังงา พยานโจทก์อีกว่า จำเลยเคยไปพูดจาทาบทามสู่ขอโจทก์กับนางทองหลาง ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีภริยาและบุตรแล้ว ก็คงมีแต่คำเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อยืนยันว่าจำเลยรักใคร่โจทก์ จำเลยจะสมรสกับโจทก์ จึงเป็นการให้เงินตามเช็คแก่โจทก์โดยมีมูลหนี้บังคับกันได้ การออกเช็คพิพาทของจำเลยในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช็คพิพาทที่จำเลยออกให้แก่โจทก์จึงเป็นเช็คที่ออกโดยชอบ จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็ค ดังนั้น เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คได้นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายและลายมือชื่อจำเลยในเช็คพิพาทไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง

สรุป

จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อยืนยันว่า จำเลยรักใคร่โจทก์ จำเลยจะสมรสกับโจทก์เป็นการให้เงินตามเช็คแก่โจทก์โดยมีมูลหนี้บังคับกันได้ การออกเช็คพิพาทของจำเลยในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ

Facebook Comments