Home บทความคดีแพ่ง ปฎิบัติหน้าที่ลูกจ้างของบริษัทที่ฉ้อโกง มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

ปฎิบัติหน้าที่ลูกจ้างของบริษัทที่ฉ้อโกง มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

1203

ปฎิบัติหน้าที่ลูกจ้างของบริษัทที่ฉ้อโกง มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6273/2546

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ , ๓๔๓ , ๘๓ , ๙๑ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ , ๕ , ๙ , ๑๒ , ๑๕ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินจำนวน ๔,๕๐๓,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี นับแต่วันลงทุนจนกว่าจะคืนต้นเงินเสร็จ

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ , ๑๒ จำคุกคนละ ๕ ปี คำเบิกความของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชกำหนดกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ ที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุคดีนี้บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” คดีนี้โจทก์มีผู้เสียหายหลายรายมาเบิกความเป็นประจักษ์พยานได้ความว่า หลังจากผู้เสียหายบางคนทราบจากประกาศโฆษณาชักชวนของบริษัทคอสเมติกส์ ดีเวลอปเม้นท์ส จำกัด ต่างพากันไปยังที่ทำการของบริษัท จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อธิบายการเข้าเป็นสมาชิกร่วมลงทุนกับบริษัท และกรรมวิธีผสมหัวเชื้อแบคทีเรีย แล็คติคส์ แอซิส เพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบส่งบริษัท โดยมอบแผ่นพับโฆษณาและกระดาษแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการผลิตให้แก่สมาชิก กับได้ขายหัวเชื้อให้แก่สมาชิก รับซื้อวัตถุดิบที่สมาชิกผลิตได้ รวมทั้งรับและจ่ายเงินให้แก่สมาชิก ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ได้กล่าวอภิปรายต่อที่ประชุมที่โรงแรมปอยหลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสาธิตการหมักหัวเชื้อให้สมาชิกดู โดยที่ไม่ได้ความจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนว่า ในการกู้ยืมเงินของสมาชิกนั้นบริษัทคอสเมติคส์ ดีเวลอปเม้นท์ส จำกัด จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ การอธิบายกรรมวิธีผสมหัวเชื้อแบคทีเรีย แล็คติคส์ แอซิส การรับและจ่ายเงินให้สมาชิกผู้ร่วมลงทุนของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของบริษัท และได้ความจากนายชบา พยานโจทก์ผู้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทคอสเมติคส์ ดีเวลอปเม้นท์ส จำกัด ว่า สามีของจำเลยที่ ๑ ได้ใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือหุ้นแทน ก่อนที่จำเลยที่ ๑ จะถอนชื่อออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท จำเลยที่ ๑ ไม่ทราบการดำเนินการของบริษัท จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า การลงทุนของผู้เสียหายมิได้เกิดจากการโฆษณาหรือประกาศชักชวนของจำเลยทั้งสี่โดยตรง จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ , ๑๒ ตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ , ๑๒ เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

สรุป

ข้อเท็จจริงไม่ได้ความจากผู้เสียหายว่า จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนว่าในการกู้ยืมเงินของสมาชิกนั้น บริษัท ค. จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของบริษัท ค. สามีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นชาวต่างชาติใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ค. แทน ก่อนจำเลยที่ 1 จะถอนชื่อออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท ค. จำเลยที่ 1 ไม่ทราบการดำเนินการของบริษัท ค. จึงฟังได้ว่า การลงทุนของผู้เสียหายมิได้เกิดจากการโฆษณาหรือประกาศชักชวนของจำเลยทั้งสี่โดยตรง จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 , 12

Facebook Comments