พยายามหาเงินมาคืนและชดใช้ผู้เสียหาย ถือเป็นเหตุรอการลงโทษหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2563
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชกำหนดการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 12 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 83, 91, 341, 343 และให้จำเลยทั้งห้าคืนหรือชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งยี่สิบสาม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,658,930 บาทจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งยี่สิบสามยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน ส่วนข้อหาอื่น โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลชั้นต้นเห็นว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ จึงอนุญาตให้ถอนคำร้องทุกข์และให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานดังกล่าวเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 5 ออกจากสารบบความศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 5 วรรคหนึ่ง (1) (ก) (ง) (2) (ก), 12 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งห้า เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนจำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 5 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน คงจำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ คงจำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีกำหนดคนละ 2 ปี 9 เดือน ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงินให้โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 185,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 95,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 23,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 4 จำนวน 147,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 5 จำนวน 66,500 บาท โจทก์ร่วมที่ 6 จำนวน 1,170 บาท โจทก์ร่วมที่ 7 จำนวน 76,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 8 จำนวน 64,500 บาท โจทก์ร่วมที่ 9 จำนวน 71,340 บาท โจทก์ร่วมที่ 10 จำนวน 13,370 บาท โจทก์ร่วมที่ 11 จำนวน 152,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 12 จำนวน 42,500 บาท โจทก์ร่วมที่ 13 จำนวน 47,500 บาท โจทก์ร่วมที่ 14 จำนวน 38,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 15 จำนวน 76,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 16 จำนวน 28,500 บาท โจทก์ร่วมที่ 17 จำนวน 247,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 18 จำนวน 6,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 19 จำนวน 30,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 20 จำนวน 40,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 21 จำนวน 10,500 บาท และโจทก์ร่วมที่ 23 จำนวน 95,000 บาท ยกฟ้องข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ยกคำขอให้จำเลยที่ 5 คืนเงินหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสาม ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมที่ 22 จำนวน 60,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 23 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง จึงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แก้ไขคำให้การ ให้ยกคำร้อง และไม่รับคำให้การศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่ากองทุนเงินสุขาภิบาลบ้านปากห้วยฝาง ก่อตั้งเมื่อปี 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปซื้อถ้วยชามแล้วนำมาแบ่งกันใช้ระหว่างสมาชิก มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการ โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามเป็นสมาชิกกองทุนเงินสุขาภิบาลบ้านปากห้วยฝางต่อมาจำเลยทั้งห้าได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากสมาชิกกองทุนเงินสุขาภิบาลบ้านปากห้วยฝาง นอกจากนี้จำเลยทั้งห้ายังได้นำเงินให้นางกันเกรา กู้ยืม สำหรับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสาม เรื่องนี้เมื่อโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามเข้าร่วมเป็นโจทก์ ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ศาลชั้นต้นรับฎีกาโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามไม่ชอบ ชั้นนี้ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปเฉพาะเรื่องความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนโดยมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิด และการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำโดยทุจริต ที่จะพอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าใจข้อหาได้ดี ทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลงผิดต่อสู้ นั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์ข้อ 1 (ก) โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดว่า จำเลยทั้งห้าคนได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2554 เวลากลางวันถึงประมาณเดือนตุลาคม 2557 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา การบรรยายฟ้องดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นความผิดหลายบทหลายกรรมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เวลากลางวัน เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นถึงประมาณวันที่ 31 ตุลาคม 2557 เวลา 24 นาฬิกา ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องตลอดมา โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อมาว่า จำเลยทั้งห้าโดยทุจริตได้บังอาจร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามและประชาชนผู้ถูกหลอกลวงโดยได้บรรยายถึงวิธีการที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามและวิธีการที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามและประชาชน ตลอดจนการให้กู้ยืมเงินที่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันออกเงินกู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งห้าเข้าใจข้อหาได้ดี โดยตอนท้ายได้บรรยายฟ้องด้วยว่า เหตุเกิดที่ตำบลวังเพิ่ม อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น อันเป็นสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด ซึ่งศาลได้อ่านอธิบายให้จำเลยทั้งห้าฟังแล้ว จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ต่อสู้คดีตลอดมา แสดงว่าจำเลยทั้งห้าเข้าใจข้อหาได้ดีไม่หลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า ฟ้องโจทก์ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานนี้กับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โจทก์ฟ้องเข้ามาในคดีนี้ด้วยกันและในข้อเดียวกัน โดยที่ความผิดทั้งสองฐานมีหลักการและเหตุผลต่างกัน และองค์ประกอบแห่งความผิดก็ต่างกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนก็มีผลเป็นการยกฟ้องไปแต่เฉพาะความผิดฐานนี้ ไม่มีผลกระทบให้ต้องไปยกฟ้องในความผิดฐานอื่นด้วย กรณีไม่ใช่เรื่องการพิจารณาเพื่อลงโทษจำเลยถึงสองครั้งในความผิดครั้งเดียว ดังนี้ เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีก็ถึงที่สุด ไม่มีผลให้สิทธินำคดีอาญาฟ้องสำหรับความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนต้องระงับไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แต่อย่างใด และกรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยพิพากษายกฟ้องในประเด็นเรื่องการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไปแล้วด้วยการพิจารณาพิพากษาความผิดฐานนี้ต่อไป จึงไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น อันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำที่ต้องห้ามตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นมีปัญหาตามฎีกาและฎีกาเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อที่มีสาระสำคัญต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำการแทนสมาชิกในกองทุนเงินสุขาภิบาลบ้านปากห้วยฝาง หรือกระทำในฐานะตัวแทนกองทุน มิได้กระทำการกู้ยืมเพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งห้าเอง และจำเลยทั้งห้าไม่ได้รับประโยชน์จากเงินที่ตนรับมาจึงมิใช่ผู้กู้ยืม การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงขาดองค์ประกอบความผิดเรื่องการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เห็นว่า กองทุนเงินสุขาภิบาลบ้านปากห้วยฝาง ไม่ปรากฏว่ามีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมาย ได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นประธานกองทุน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการ เบื้องต้นย่อมถือว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันดำเนินการด้วยตนเองในนามกองทุน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการเป็นตัวแทนสมาชิกในกองทุน หรือตัวแทนกองทุน จำเลยทั้งห้าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งห้าเองนี้ ไม่ปรากฏชัดเจนว่าเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยตรงและฟังเป็นที่ยุติแล้วโดยแจ้งชัด ดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างในฎีกา ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งห้าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากเงินที่ตนได้รับมาด้วยหรือไม่ อย่างไรนั้น เห็นว่า พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 มีกรณีหนึ่งที่เอาผิดแก่ผู้ใดที่โฆษณาหรือประกาศต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมายจะพึงจ่ายได้โดยตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจะประกอบกิจการใด ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ เห็นได้ว่า การกระทำโดยตนรู้หรือควรรู้เช่นนั้น ยังกระทำไปก็เป็นความผิดได้ ซึ่งผลจากการกระทำที่ตนรู้หรือควรจะรู้อยู่แล้วว่า ไม่สามารถจะประกอบกิจการใด ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์พอเพียงนั้นเอง หากยังได้ขืนกระทำไปก็อาจเป็นทางที่นำมาซึ่งการสูญเสียเงินที่กู้ไป เกิดความเสียหายขึ้นแสดงว่า พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีหลักการและเหตุผลสำคัญแตกต่างไปจากการกู้ยืมเงินโดยปกติทั่วไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ประชาชนและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 ไม่มีข้อความใดบัญญัติว่า ผู้กระทำอันจะเป็นความผิดจะต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้ให้กู้ยืมมานั้น ก็มีเหตุผล ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นข้อสุดท้ายว่า กรณีมีเหตุที่จะให้เวลาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หาเงินมาชำระแก่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสาม หรือควรกำหนดวิธีการอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นราษฎรอยู่ในหมู่บ้าน ตำบลต่างจังหวัด ไม่มีประวัติการต้องโทษติดตัว ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกชาวบ้านก็เคยชักชวนกันร่วมลงทุนไปซื้อถ้วยชามแล้วนำเงินมาแบ่งปันกันตามเอกสารท้ายฟ้องปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามเป็นราษฎรหมู่บ้าน ตำบลเดียวกัน และร่วมเป็นสมาชิกกองทุนเงินสุขาภิบาลบ้านปากห้วยฝางด้วยกันถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านกัน ซึ่งการกู้ยืมเงินโดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงล่อใจนั้น โจทก์ร่วมและสมาชิกทั้งหลายก็รู้เห็นแต่แรก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อายุมากย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว สภาพ สถานะ และความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คงไม่แตกต่างไปจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 มากนัก หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตกลง ใช้เงินไปตามส่วนที่ควรรับผิดแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็คงมีโอกาสจะได้รับให้รอการลงโทษได้ในทำนองเดียวกัน ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอหาเวลาหาเงินไปชำระโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามมานั้น ส่วนหนึ่งแสดงว่าได้สำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว ดังนี้ เมื่อโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำคุกไม่เกิน 5 ปี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เคยต้องโทษมาก่อนแม้ลักษณะการกระทำความผิดจะค่อนข้างร้ายแรง แต่เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติความประพฤติ สภาพความผิด และการพยายามบรรเทาผลร้าย เห็นว่า กรณียังมีเหตุควรปรานีให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไว้ก่อน ทั้งนี้ ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้วางเงินเพื่อชำระหนี้ตามส่วนที่ตนรับผิด แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่วางเงิน จึงให้กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 เป็นข้อการใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามไว้ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้นพิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟัง กับให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 ในระยะเวลาที่รอการกำหนดโทษ โดยให้จำเลยที่ 1 ไปตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายกับโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟัง และขวนขวายชำระเงินแก่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามตามที่ตกลงให้เรียบร้อยเสียภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มต้นรอการกำหนดโทษไว้ดังกล่าว แจ้งให้พนักงานคุมประพฤติสอดส่องและทำรายงานและความเห็นเกี่ยวกับการคุมความประพฤติจำเลยที่ 1 เสนอต่อศาลชั้นต้นโดยเร็ว หากศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 ต่อไป ยกฎีกาโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4