Home บทความคดีแพ่ง วิธีการและลักษณะในการกู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ตามพรก.กู้ยืมฯศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

วิธีการและลักษณะในการกู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ตามพรก.กู้ยืมฯศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

1500

วิธีการและลักษณะในการกู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ตามพรก.กู้ยืมฯศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9555/2554

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 5, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341, 343 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 420,000 บาท จำนวน 75,000 บาท จำนวน 341,000 บาท จำนวน 360,000 บาท จำนวน 85,000 บาท จำนวน 225,000 บาท จำนวน 50,000 บาท และจำนวน 505,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งแปดตามลำดับระหว่างพิจารณา นายมังคุด นางดาวกระจาย นางอิฐ นางเฟื่องฟ้า นางคราม นางเขจ นางมะพลับ และนางมะเดื่อ ผู้เสียหายทั้งแปดยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5 (1) (2) (ก), 12 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 8 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี แต่ในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นบทหนักที่สุดนั้นมีโทษจำคุกอย่างสูงสิบปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จึงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 220,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 75,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 341,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 360,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 4 จำนวน 85,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 5 จำนวน 225,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 6 จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 7 และจำนวน 335,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 8 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 48 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งแปด และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา โดยได้บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะการกู้ยืมในกรณีเช่นนี้ไว้ รวมถึงการปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงและรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าว ดังนี้ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมทั้งแปดไม่มีอำนาจฟ้อง จึงไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานนี้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง โจทก์ร่วมทั้งแปดไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสำหรับความผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งแปดในส่วนนี้

อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมที่ 8 มอบเงินให้จำเลยเพียง 365,000 บาท และจำเลยได้ชดใช้เงินคืนให้แล้ว 10,000 บาท จำเลยคงต้องรับผิดใช้เงินคืนเพียง 355,000 บาท แต่กลับพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 335,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษาแก้ไขในส่วนนี้ จึงเป็นกรณีคำพิพากษาดังกล่าวมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่เงินที่ต้องคืนหรือใช้แก่โจทก์ร่วมที่ 8 นั้น ให้จำเลยคืนหรือใช้จำนวน 355,000 บาท ยกฎีกาและคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งแปดในข้อหาความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

สรุป

พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา โดยได้บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะการกู้ยืมในกรณีเช่นนี้ไว้ รวมถึงการปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าว ดังนี้ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมทั้งแปดไม่มีอำนาจฟ้อง จึงไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

Facebook Comments