Home ทั้งหมด สิทธิในการร้องขอถอนผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย สิ้นสุดลงเมื่อใด

สิทธิในการร้องขอถอนผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย สิ้นสุดลงเมื่อใด

1679

สิทธิในการร้องขอถอนผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย สิ้นสุดลงเมื่อใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2544

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางมะยม ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายมะขามรือพรรณลึก ผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๙๑/๒๕๒๖ รับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๘๐๔ ตำบลเกาะเกิด อำเภอพระราชวัง (บางปะอิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปเป็นของตนโดยไม่ปันมรดกแก่ทายาทอื่นและร้องขอจัดการมรดกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททั้งปวง เพราะเกรงจะถูกคัดค้านเนื่องจากมีเจตนาไม่สุจริต ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยตั้งผู้คัดค้านซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นผู้จัดการมรดกแทน

ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๘๐๔ เพียงแปลงเดียว และผู้ร้องรับโอนมรดกที่ดินแปลงนั้นไว้แล้วตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๓ โดยไม่มีทายาทคนใดคัดค้าน การปันมรดกรายนี้เสร็จสิ้นลงเกินกว่า ๕ ปี แล้ว คำฟ้องเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๓ ผู้คัดค้านเคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดทหารบกราชบุรี ในคดีหมายเลขแดงที่ ๓ ก/๒๕๓๐ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๙๖/๒๕๓๓ จนถูกกองทัพบกถอดยศปลดออกจากราชการโดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ จึงขอเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท และรถยนต์เก๋งโฮลเด็นจากผู้ร้องเพื่อนำไปประกอบอาชีพและแสดงเจตนาสละมรดกแล้ว จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกต่อไป ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ รับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายมะขามรือพรรณลึก ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๙๑/๒๕๒๖ ผู้ร้องจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๘๐๔ ให้แก่ตนเองแล้ว เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๓ ทรัพย์มรดกมีแต่เพียงที่ดินแปลงดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีก คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกประเด็นที่ว่า การคัดค้านการจัดการมรดกคดีนี้ขาดอายุความขึ้นวินิจฉัยเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีขอถอนผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีเหตุที่จะถอนและต้องร้องขอก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่จะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงซึ่งเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้อง ประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีเพียงว่า มีเหตุให้ถอนผู้จัดการมรดกและการร้องขอถอนผู้จัดการมรดกได้ร้องก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นเรื่องคดีขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ แม้ผู้ร้องจะกล่าวอ้างมาในคำคัดค้าน ก็เป็นเรื่องเกินเลยไม่เกี่ยวกับประเด็น ที่ศาลล่างหยิบยกเรื่องคดีขาดอายุความการจัดการมรดกตามมาตรา ๑๗๓๓ วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ฟังมาดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น การปันมรดกคดีนี้จึงเสร็จสิ้นลงตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๓ การใช้สิทธิขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านจึงพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๗๒๗ วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องออกจากตำแหน่งผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องคัดค้านนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

สรุป

คดีร้องขอถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีเหตุที่จะถอนและต้องร้องขอก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่จะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้อง ประเด็นแห่งคดีร้องขอถอนผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงว่า มีเหตุให้ถอนผู้จัดการมรดกและร้องขอถอนผู้จัดการมรดกได้ร้องก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นเรื่องสิทธิเรียกร้องคดีขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ แม้ผู้ร้องจะกล่าวอ้างมาในคำคัดค้านการร้องขอถอนผู้จัดการมรดกก็เป็นเรื่องเกินเลยไม่เกี่ยวกับประเด็น การที่ศาลล่างหยิบยกเรื่องคดีขาดอายุความการจัดการมรดกตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบ

เมื่อการปันมรดกเสร็จสิ้นลงแล้ว การใช้สิทธิขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านจึงพ้นกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องออกจากตำแหน่งผู้จัดการมรดก

Facebook Comments