Home ทั้งหมด โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติด ถือว่ากระทำผิดฐานใด

โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติด ถือว่ากระทำผิดฐานใด

1842

โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติด ถือว่ากระทำผิดฐานใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 6, 8 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (ที่ถูก วรรคสาม) (2) (3) (ที่แก้ไขใหม่)), 66 วรรคสาม ให้ลงโทษประหารชีวิต

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายแพงพวย กับนางสาวฟ้า พร้อมยึดเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 311 แท่ง น้ำหนักสุทธิ 109,057.590 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 90,441.459 กรัม และเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 39,822 เม็ดหรือหน่วยการใช้ น้ำหนักสุทธิ 3,677.670 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 511.574 กรัม เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษนายแพงพวยและนางสาวฟ้ากับให้ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4185/2558 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยตามหมายจับ โดยกล่าวหาว่าสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดให้แก่นายแพงพวยกับพวกในฐานความผิดร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้งสองปากมิใช่เป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง แต่ก็เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สอดคล้องกัน ทั้งมีสาระสำคัญเชื่อมโยงกับเอกสารและภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่นายแพงพวยเดินทางไปพบนายใหญ่หรือสลุ่ยพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วตกลงรับจ้างลำเลียงยาเสพติดให้นายใหญ่ เพื่อส่งมอบแก่ลูกค้าในประเทศไทยหลายครั้ง โดยนายใหญ่ให้หญิงชาวลาวซึ่งเรียกกันว่าแม่น้าหรือป้าลาวเครือข่ายของตน เป็นผู้ประสานงานเรื่องโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของนายแพงพวยมาแล้วหลายครั้ง และในครั้งที่เกิดเหตุ ตกลงค่าจ้างกัน 400,000 บาท ซึ่งจากทางนำสืบของโจทก์ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าก่อนนายแพงพวยกับพวกถูกจับกุมพร้อมยาเสพติดของกลาง มีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายแพงพวยหลายครั้ง โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 โอนจากบัญชีเงินฝากของนายมะหิน พวกของจำเลยเข้าบัญชีนายแพงพวย 4 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท และโอนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 อีก 50,000 บาท รวม 250,000 บาท นอกจากนี้ โอนจากบัญชีเงินฝากของจำเลย รวม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 วันที่ 4 สิงหาคม 2557 และวันที่ 30 สิงหาคม 2557 จำนวน 5,000 บาท 30,000 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งในข้อนี้จำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่า มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวตามเอกสารที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานจริง เป็นการเจือสมให้คำเบิกความของพยานโจทก์ข้างต้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แม้นายแพงพวยจะเบิกความบ่ายเบี่ยงว่า ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติด เพราะจะมีการจ่ายค่าจ้างเมื่อไปถึงปลายทางเสียก่อน แต่ในชั้นสอบสวนนายแพงพวยให้การไว้อย่างชัดเจนว่า มีการทยอยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีของตนหลายครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานการโอนเงิน คำให้การในชั้นสอบสวนของนายแพงพวยซึ่งประกอบด้วยเหตุผล และสอดคล้องกับเอกสารที่เกี่ยวข้องจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าคำเบิกความในชั้นศาล นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 1064 xxxx ของจำเลย ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 3459 xxxx ของแม่น้าหรือป้าลาวหลายครั้ง ซึ่งในข้อนี้จำเลยมิได้นำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่น คงเบิกความลอย ๆ เพียงว่า นายมะหินยืมโทรศัพท์ของจำเลยไปใช้ ซึ่งขัดต่อเหตุผลเพราะมีการใช้โทรศัพท์ทั้งกลางวันและกลางคืน ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่า หลังจากนายแพงพวยกับพวกถูกจับกุมได้พร้อมยาเสพติดของกลาง เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 จำเลยก็รีบปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวของตนในวันเดียวกันนั้นเอง ส่อให้เห็นข้อพิรุธอย่างชัดเจน หาใช่โจทก์มีแต่เพียงพยานบอกเล่าไม่ เมื่อประมวลพยานหลักฐานของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เงินที่จำเลยโอนจากบัญชีของตนเข้าบัญชีของนายแพงพวยข้างต้น เป็นเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางจริง แม้ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้จักกับนายแพงพวยมาก่อน ก็ไม่เป็นเหตุให้พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา เพราะการกระทำความผิดของกลุ่มเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติด ไม่จำเป็นที่ผู้กระทำความผิดทุกคนจะต้องรู้จักกันเสมอไป ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยถูกนายมะหินซึ่งมีอาชีพเป็นเซลล์ขายหนังสือและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก หลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายแพงพวยหลายครั้ง โดยนายมะหินแจ้งว่าเป็นการโอนเงินค่าสินค้าให้บริษัทนายจ้าง นั้น เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทดังกล่าว ทั้งไม่มีเหตุผลใดที่นายมะหินเก็บเงินจากลูกค้าได้แล้วจะต้องมอบเงินให้จำเลยไปโอนเข้าบัญชีของนายแพงพวย ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟัง

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่นำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และบัญชีเงินฝากข้างต้นมาเบิกความประกอบเอกสารด้วย จึงไม่มีความน่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า ในข้อนี้จำเลยเบิกความยอมรับข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และโอนเงินกันตามเอกสารที่โจทก์อ้างส่งจริง ดังนั้น แม้โจทก์ไม่นำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวมาเบิกความด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้พยานหลักฐานของโจทก์เสียไป สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นเพียงข้อปลีกย่อย ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จากเหตุผลดังที่วินิจฉัยมา พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นผู้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางให้แก่นายแพงพวยจริง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนนี้มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายเงิน นายอัญชัน นางสาวเฟื่องฟ้า และนายใหญ่หรือสลุ่ย ฝ่ายหนึ่ง กับนายแพงพวย นางสาวฟ้า นายน้ำตาล และนายดำ อีกฝ่ายหนึ่ง สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจำเลยเป็นฝ่ายร่วมดำเนินการจัดหา สั่งการ และให้เงินทุนในการลำเลียงยาเสพติดแก่นายแพงพวยกับพวก แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้เข้าร่วมตกลงคบคิดเพื่อค้ายาเสพติดของกลางกับนายใหญ่และพวก คงได้ความเพียงว่า หลังจากกลุ่มคนดังกล่าวสมคบกันลำเลียงยาเสพติดของกลางแล้ว จำเลยได้รับการติดต่อจากหญิงชาวลาวที่ชื่อแม่น้าหรือป้าลาว เครือข่ายยาเสพติดของนายใหญ่ ให้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีเงินฝากของนายแพงพวยเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยได้โอนเงินเพียง 3 ครั้ง คือที่โอนจากบัญชีของจำเลยเอง รวมเป็นเงิน 38,000 บาท เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยโอนเงินจำนวนอื่นนอกเหนือจากนี้ด้วย จึงต้องฟังเป็นยุติว่า จำเลยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเพียง 38,000 บาท ซึ่งตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่ได้รับการประสานจากเครือข่ายของนายใหญ่ให้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดบางส่วนแก่นายแพงพวย อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากนายใหญ่กับพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วเช่นนี้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้สมคบกับนายใหญ่และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้สมคบกับนายใหญ่และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว แม้ในเวลาต่อมานายแพงพวยกับพวกร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่การที่จำเลยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางแก่นายแพงพวยบางส่วน ตามที่ได้รับการประสานมาจากเครือข่ายยาเสพติดของนายใหญ่อีกทอดหนึ่ง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ความว่ามีการขออนุมัติจับกุมจำเลยในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ไว้ด้วย ทั้งได้รับอนุมัติการจับกุมโดยชอบตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 6 ดังกล่าวมาด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (3) (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสาม ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต ข้อหาอื่นให้ยก

สรุป

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับ ห. และพวกฝ่ายหนึ่ง กับ ณ. และพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจำเลยเป็นฝ่ายร่วมดำเนินการจัดหา สั่งการ และให้เงินทุนในการลำเลียงยาเสพติดแก่ ณ. และพวก แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้เข้าร่วมตกลงคบคิดเพื่อค้ายาเสพติดของกลางกับ ห. และพวก คงได้ความเพียงว่า หลังจากกลุ่มคนดังกล่าวสมคบกันลำเลียงยาเสพติดของกลางแล้ว จำเลยได้รับการติดต่อจากหญิงชาวลาวที่ชื่อ ม. เครือข่ายยาเสพติดของ ห. ให้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีเงินฝากของ ณ. เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก ห. และพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วเช่นนี้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว แม้ในเวลาต่อมา ณ. และพวกร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่การที่จำเลยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางแก่ ณ. บางส่วน ย่อมถือได้ว่าจำเลยสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ความว่ามีการขออนุมัติจับกุมจำเลยในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ไว้ด้วย ทั้งได้รับอนุมัติการจับกุมโดยชอบตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 6 ดังกล่าวมาด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

Facebook Comments