Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ การฟ้องให้นายจ้างร่วมรับผิด ต้องบรรยายถึงนิติสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

การฟ้องให้นายจ้างร่วมรับผิด ต้องบรรยายถึงนิติสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

1606

การฟ้องให้นายจ้างร่วมรับผิด ต้องบรรยายถึงนิติสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15199-15200/2558

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 296/2551 เข้ากับคดีหมายเลขดำที่ 2089/2550 โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่าโจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ และให้เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 6

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,845,039 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งหกขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 6 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 547,447.89 บาท โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในวงเงิน 113,354 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,177,447.89 บาท โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในวงเงิน 113,354 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 50,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการสถานเสริมสุขภาพและความงามจำหน่ายสินค้าจำพวกเครื่องสำอาง มีหุ้นส่วน 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามหนังสือรับรองจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ปล 7441 กรุงเทพมหานคร โดยทำสัญญาเช่าซื้อจากบริษัทจีอี แคปปิตอลออโต้ ลีส จำกัด ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัยรถคันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 จำเลยที่ 6 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 6 ขับรถกระบะของจำเลยที่ 1 บรรทุกสินค้าประเภทเครื่องสำอางและน้ำหอมไปตามถนนเพชรเกษมจากทางภาคใต้มุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทเลินเล่อ ใช้ความเร็วสูงจนไม่อาจบังคับรถได้ เป็นเหตุให้รถแล่นออกนอกช่องเดินรถพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กยข ประจวบคีรีขันธ์ 924 ของโจทก์ซึ่งจอดรออยู่บนสะพานไม้บริเวณเกาะกลางถนนระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 342 ถึง 343 อย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส สมองบวมช้ำเลือดคั่งในสมอง มีบาดแผลตามร่างกายหลายแห่ง จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถกระบะที่จำเลยที่ 6 ขับได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์บางส่วนแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในวงเงิน 113,354 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 5 เป็นอันยุติ

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 6 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น โจทก์มีนายดาหลา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นสามีโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างหรือที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 บรรทุกสินค้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เต็มคันรถมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร และหลังเกิดเหตุคดีนี้ ระหว่างที่โจทก์เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพชรรัตน์ จังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ 2 มาพบพยานและพูดว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของห้าง จำเลยที่ 4 และเป็นนายจ้างจำเลยที่ 6 ประกอบกิจการค้าสินค้าจำพวกน้ำหอมและอื่น ๆ วันเกิดเหตุได้ให้จำเลยที่ 6 ขับรถกระบะบรรทุกสินค้าเครื่องสำอางและน้ำหอมมูลค่านับแสนบาทจากภาคใต้เพื่อไปจำหน่ายที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจำเลยที่ 2 จะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ทั้งจำเลยที่ 2 ยังแนะนำให้นำโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่เมื่อพยานแจ้งว่าต้องการนำโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 จำเลยที่ 2 ก็ยินยอม และจำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ติดต่อเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถที่จำเลยที่ 6 ขับด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือรับรองแล้วปรากฏว่า จำเลยที่ 4 ประกอบกิจการสถานเสริมสุขภาพและความงาม สินค้าที่จำเลยที่ 6 บรรทุกมาในรถกระบะคันเกิดเหตุล้วนเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอางและน้ำหอมสอดคล้องกับคำเบิกความนายดาหลาที่ว่า สินค้าดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 4 นอกจากนี้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกขึ้นในวันที่มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย พนักงานสอบสวนระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างและตัวแทนจำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายของเอกสารอันเป็นการรับรองสถานะของตน สนับสนุนคำเบิกความของนายดาหลาให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ประกอบกับจำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์รับว่า ได้มอบนามบัตรให้น้องสาวโจทก์ไว้ โดยนามบัตรดังกล่าวตอนบนพิมพ์ชื่อห้างจำเลยที่ 4 ถัดมาเป็นชื่อจำเลยที่ 2 ระบุตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องในห้างจำเลยที่ 4 หรือมิได้มาติดต่อประสานกับฝ่ายโจทก์แทนจำเลยที่ 4 ก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะมอบนามบัตรดังกล่าวให้ทางฝ่ายโจทก์ไว้ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 6 เบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 6 เคยทำงานที่บริษัทไชน่า ไดฟู (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาจำเลยที่ 6 ลาออกมาประกอบอาชีพค้าขายสินค้าประเภทสบู่ ยาสีฟัน ครีมทาผิวและอื่น ๆ โดยขอคำแนะนำจากจำเลยที่ 2 และเมื่อเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ช่วยเจรจากับฝ่ายโจทก์แทนจำเลยที่ 6 เพราะจำเลยที่ 6 เป็นลูกน้องเก่าและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดนั้น ก็เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 6 ที่ว่าสินค้าเป็นของจำเลยที่ 6 ปราศจากพยานหลักฐานใดสนับสนุน ไม่ปรากฏเอกสารการซื้อขายสินค้า และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 จะนำสินค้านั้นไปจำหน่ายที่ใด ให้แก่ผู้ใด อย่างไร พันตำรวจโทชบา พยานจำเลยที่ 2 และที่ 6 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า พยานไปตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วยตนเอง พบว่าสินค้าอยู่เต็มรถ เมื่อสินค้าดังกล่าวเป็นเครื่องสำอางและน้ำหอมซึ่งเป็นสินค้าที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก การที่มีอยู่เต็มรถเช่นนี้ย่อมจะต้องมีจำนวนมากพอสมควรและมูลค่าสินค้าย่อมจะสูง แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 6 ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ให้ถ้อยคำแก่พนักงานคุมประพฤติว่ามีอาชีพรับจ้างเท่านั้น ทั้งไม่เคยอ้างว่าเป็นเจ้าของสินค้าที่บรรทุกมาในรถเลย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างไม่ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์หรือสนับสนุนข้อต่อสู้ตามคำให้การของตนแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถบรรทุกสินค้าไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ดังนั้นจำเลยที่ 4 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 ได้กระทำไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วยโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1077 (2) และ 1087 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่แสดงตัวออกว่าเป็นนายจ้างจำเลยที่ 6 และเข้าไปติดต่อเจรจาเกี่ยวกับการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตลอดมาถือได้ว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 4 เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1088 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 6 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 6 และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถไปในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ด้วย แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 6 หนังสือรับรองจำเลยที่ 4 ก็ไม่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วน และไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ร่วมลงทุนทำกิจการใดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือมีส่วนเป็นเจ้าของสินค้าที่บรรทุกมาในรถกระบะที่จำเลยที่ 6 ขับไปเกิดเหตุคดีนี้ คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันเกิดเหตุเท่านั้น ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดใด ๆ ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 กระทำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 1,597,447.89 บาท โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในวงเงิน 113,354 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ในสำนวนแรก โดยกำหนด ค่าทนายความ 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ในสำนวนแรก โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 6 ในสำนวนหลังในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้เป็นพับและยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 6,853 บาท คืนแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 15,925.50 บาท และคืนแก่จำเลยที่ 6 จำนวน 18,145 บาท

สรุป

จำเลยที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถบรรทุกสินค้าไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 ได้กระทำไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วยโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1077 (2) และ 1087 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่แสดงตัวออกว่าเป็นนายจ้างจำเลยที่ 6 และเข้าไปติดต่อเจรจาเกี่ยวกับการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตลอดมาถือได้ว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 4 เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 ด้วย

โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 6 และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถไปในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ด้วย แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 6 หนังสือรับรองจำเลยที่ 4 ก็ไม่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วน และไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ร่วมลงทุนทำกิจการใดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือมีส่วนเป็นเจ้าของสินค้าที่บรรทุกมาในรถกระบะที่จำเลยที่ 6 ขับไปเกิดเหตุคดีนี้ คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันเกิดเหตุเท่านั้น ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดใด ๆ ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 กระทำ

Facebook Comments