Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ความผิดตาม พรบ.จราจรทางบกฯ สามารถขอเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่

ความผิดตาม พรบ.จราจรทางบกฯ สามารถขอเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่

2252

ความผิดตาม พรบ.จราจรทางบกฯ สามารถขอเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2550

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายแตงโม ผู้เสียหายที่ 1 และนายชมนาด ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายแตงโม โจทก์ร่วมที่ 1 ขับรถยนต์ไปตามซอยหมู่บ้านบางปูนคร นายชมนาด โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แซงรถยนต์โจทก์ร่วมที่ 1 ส่วนจำเลยขับรถยนต์กระบะในทางเดินรถสวน ต่อมาเกิดการชนกันระหว่างรถจักรยานยนต์โจทก์ร่วมที่ 2 กับรถยนต์กระบะจำเลย และรถยนต์กระบะจำเลยชนรถยนต์โจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยขับรถยนต์กระบะโดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วชนรถยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ตามลำดับหรือไม่…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย และจากผลการตรวจชันสูตรบาดแผลโจทก์ร่วมที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดขาขวาท่อนบนและขาขวาท่อนล่างกระดูกขาขวาท่อนบนและท่อนล่างหักทั้งสองอันกระดูกมือขวาหัก ใช้เวลารักษาประมาณ 4 เดือนหายถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ ได้ความจากรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่ามีความประสงค์เจรจาชดใช้ค่าเสียหาย และทนายจำเลยนำแคชเชียร์เช็คสองฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายเงิน 35,000 บาท ฉบับที่สองสั่งจ่ายเงิน 65,000 บาท มาวางศาลชั้นต้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหาย ต่อมานายชบา ตั้งธรรมนิยม ทนายโจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่จำเลยวางที่ศาลชั้นต้น แสดงว่าเมื่อจำเลยประสงค์จะชดใช้ค่าเสียหาย ฝ่ายโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินดังกล่าวไปอันเป็นการบรรเทาความเสียหายของโจทก์ร่วมที่ 2 บางส่วนแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้นไม่ต้องความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจำเลยไว้เสียด้วย

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายแตงโม และนายชมนาด ผู้เสียหายทั้งสองเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้และต่อมาศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในคำพิพากษา เฉพาะกรณีนายชมนาด์ว่าอนุญาตให้นายชมนาด์เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ส่วนความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก นายชมนาด์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยกรณีนายแตงโมนั้น เห็นว่า นายแตงโมโจทก์ร่วมที่ 1 มิใช่ผู้เสียหายในความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายแตงโมโจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด คงมีแต่นายชมนาด์โจทก์ร่วมที่ 2 เท่านั้นที่ได้รับอันตรายสาหัส นายแตงโมโจทก์ร่วมที่ 1 จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ด้วย จึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายแตงโมโจทก์ร่วมที่ 1 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225″

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่งสำหรับโทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายแตงโม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

สรุป

จทก์ร่วมที่ 1 มิใช่ผู้เสียหายในความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด คงมีแต่โจทก์ร่วมที่ 2 เท่านั้น ที่ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมที่ 1 จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ด้วย จึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ที่ 1 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

Facebook Comments