Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ถ้าไม่ได้บรรยายฟ้องในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

ถ้าไม่ได้บรรยายฟ้องในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

1689

ถ้าไม่ได้บรรยายฟ้องในทางการที่จ้าง นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2558

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 465,613.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 442,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 19,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดด้วยการขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30-0836 สระบุรี โดยประมาทเลินเล่อกล่าวคือ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 หยุดรถไม่ทันเป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้ามาเฉี่ยวชนรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิ้ลยู รุ่น 323 ไอ รุ่นปี 2001 หมายเลขทะเบียน สล 8880 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยในวงเงิน 730,000 บาท จากทางด้านหลังไปทางด้านข้างและหลังคาไปจนถึงด้านหน้าขวาได้รับความเสียหายมากเกือบตลอดคันรายละเอียดตามภาพถ่าย ซึ่งโจทก์นำสืบอ้างว่า โจทก์ไม่สามารถซ่อมแซมรถประกันให้คืนกลับสภาพเดิมได้ เนื่องจากถูกชนได้รับความเสียหายเกือบตลอดคัน วันที่ 30 มกราคม 2551 โจทก์จึงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยรับไปแล้วร้อยละ 90 ของวงเงินประกันภัยเป็นเงิน 657,000 บาท ตามหนังสืออนุมัติจ่ายและหลักฐานการจ่ายเงินของโจทก์ให้ผู้เอาประกันภัยรับเงินไป ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถประกันให้โจทก์นำไปขายต่อตามสภาพเป็นซากรถได้เงินมา 215,000 บาท คงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไป 442,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ก่อนอื่นต้องวินิจฉัยก่อนว่ากรณีเป็นอย่างที่โจทก์นำสืบหรือไม่ ได้พิจารณาตามภาพถ่ายแล้ว ปรากฏชัดเจนอย่างที่โจทก์นำสืบว่ารถประกันถูกชนได้รับความเสียหายมากเกือบตลอดคันจนไม่อาจซ่อมแซมได้ กรณีไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นอย่างที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกา เมื่อโจทก์มีหลักฐานการจ่ายเงินของโจทก์ให้ผู้เอาประกันภัยรับเงินไปมาแสดงต่อศาล แม้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้ลงลายมือชื่อรับเงินอย่างที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกา แต่เมื่อจำเลยทั้งสองไม่นำสืบโต้แย้งการจ่ายเงินของโจทก์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงรับฟังได้ว่า โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยรับไปแล้วอย่างที่โจทก์นำสืบ ส่วนที่โจทก์นำรถประกันไปขายต่อตามสภาพเป็นซากรถ แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาลอย่างที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกา แต่ก็น่าเชื่อว่าโจทก์นำไปขายจริง เนื่องจากไม่มีเหตุอะไรที่โจทก์จะเก็บซากรถไว้ให้เปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและเมื่อพิจารณาสภาพซากรถแล้วก็น่าเชื่อว่าโจทก์ขายได้ราคา 215,000 บาท จริงอย่างที่โจทก์นำสืบ และไม่มีเหตุที่จะคิดไปได้ว่าโจทก์นำรถประกันไปซ่อมแซมให้อยู่สภาพดีก่อนแล้วนำไปขายต่อทีหลังในราคาใกล้เคียงกับที่ซื้อรถอย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย เนื่องจากเป็นการผิดปกติวิสัยของบริษัทประกันภัยอย่างเช่นโจทก์จะพึงปฏิบัติโดยเหตุที่โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยอยู่ในความควบคุมของรัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการขายรถที่ไปเอารถถูกชนมาซ่อมแล้วนำไปขายอย่างเช่นธุรกิจขายรถมือสอง และเมื่อคิดหักแล้วคงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไป 442,000 บาท อย่างที่โจทก์นำสืบ เมื่อค่ารถยก 4,000 บาท รวมอยู่ในส่วนนี้แล้วถือว่าโจทก์ได้ยกขึ้นว่ากล่าวแล้วในศาลชั้นต้น ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่าค่ารถยกไม่ได้ยกว่ากล่าวฟังไม่ขึ้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่ารถยกได้ ซึ่งกรณีถือว่าโจทก์นำสืบค่าเสียหายแล้วกรณีไม่ใช่โจทก์ไม่นำสืบอย่างที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกา ที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ระหว่างการเจรจาที่สถานีตำรวจมีช่างซ่อมรถยนต์ของอู่สองคอนเจริญยนต์ ซึ่งเป็นคนกลางมาประเมินความเสียหายของรถประกันเป็นเงินเพียง 250,000 บาท เท่านั้นตามบันทึกการตรวจพิสูจน์เครื่องอุปกรณ์รถยนต์และสภาพความเสียหาย ก็ไม่มีน้ำหนักรับฟัง เนื่องจากขัดแย้งกับความเสียหายที่ปรากฏชัดเจนตามภาพถ่าย อีกประการหนึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงโจทก์ก็คงซ่อมแซมรถประกันไปแล้ว โจทก์คงไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงินถึง 657,000 บาท เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า โจทก์ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เพียง 50,000 บาท เท่านั้น เนื่องจากตอนแรกที่โจทก์มีหนังสือ ไปถึงจำเลยที่ 1 เรียกร้องค่าเสียหายเพียง 69,700 บาท แต่ได้มีการเจรจาตกลงกันจนกระทั่งมีการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ 50,000 บาท ก็น่าเชื่อว่าโจทก์แสดงเจตนาไปโดยหลงผิดทั้งหมด ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาในทำนองว่าโจทก์ไม่ได้หลงผิดเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์มีความชำนาญเป็นอย่างดี ก่อนที่จะออกหนังสือ ของโจทก์ก็ได้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดแล้วฟังไม่ขึ้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายและติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เพียงเท่านี้ อีกทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอย่างที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาเนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องยอมระงับข้อพิพาทไม่เรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1 กรณีเป็นข้อตกลงรับชำระค่าเสียหายเพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ไปบางส่วนแล้วเป็นเงิน 50,000 บาท จึงยังคงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ให้โจทก์อีก 392,000 บาท ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 จะต้องได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏไว้เลยว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างหรือไม่ อย่างไร ในอันที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถือว่าฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในอันที่จะให้จำเลยที่ 2 รับผิด กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อเป็นเช่นนี้ฎีกาโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นสาระสำคัญอันควรแก่วินิจฉัย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 392,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จะต้องได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏไว้เลยว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างหรือไม่ อย่างไร ในอันที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถือว่าฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในอันที่จะให้จำเลยที่ 2 รับผิด กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

Facebook Comments