ใครมีหน้าที่นำสืบมูลหนี้ ในคดีเช็คเด้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2809/2537
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกแล้ว จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(1) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่งจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามข้อฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคแรก และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในภายหลังด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ออกใช้บังคับโดยยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจะต้องให้ได้ความว่า ขณะที่ผู้ออกเช็คออกเช็คนั้นเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้ชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณาโจทก์ไม่นำสืบข้อเท็จจริงว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายให้แก่ผู้มีชื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ จึงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับชำระหนี้ให้แก่ผู้มีชื่อเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้มีชื่อมีอยู่จริงบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ การออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับภายหลัง จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
สรุป
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 แต่ก่อนสืบพยานโจทก์มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534ออกใช้บังคับโดยยกเลิก พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเป็นความผิด” ดังนี้ การกระทำที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องได้ความว่าขณะที่ผู้ออกเช็คออกเช็คนั้นเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแต่เมื่อชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา โจทก์ไม่นำสืบข้อเท็จจริงว่าจำเลยออกเช็คพิพาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้เพียงว่าจำเลยได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้แก่ผู้มีชื่อเท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้มีชื่อมีอยู่จริงบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับภายหลัง จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง