ในคดีละเมิด ฟ้องเรียกค่าทุกข์ทรมาน และค่ารอยแผลเป็น แยกกันได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2522
ลูกจ้างของจำเลยขับรถชนรถซึ่งโจทก์ขับ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียโฉม ค่าทนทุกข์ทรมาร ค่าที่ไม่ได้ใช้รถ รวม 53,470 บาท กับดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำละเมิด จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่า ค่าเสียโฉมสูงเกินไป โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เสียโฉมหรือเสียบุคลิกและไม่ควรเรียกเพราะตีราคาเป็นเงินไม่ได้ กับเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนกันกับที่โจทก์อ้างว่าได้รับทุกข์ทรมานนั้นพิเคราะห์แล้ว โจทก์ที่ 1 เสียโฉมและเสียบุคลิกหรือไม่นี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า รอยแผลเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ปรากฏต่อศาลไม่ถึงกับทำให้เสียโฉมและเสียบุคลิกแต่ว่าทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหายแก่ร่างกายซึ่งกรณีเช่นนี้ ผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 ส่วนจำนวนค่าเสียหายควรจะได้เท่าใดนั้น ศาลย่อมกำหนดให้ได้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และเห็นว่าค่าเสียหายเช่นว่านี้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับค่าทนทุกข์ทรมาน ที่ศาลล่างกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาทนั้น เห็นว่าเป็นจำนวนที่สมควรแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข
สำหรับค่าทนทุกข์ทรมาน จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่าสูงเกินไปและไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บเกี่ยวกับสมองและประสาท วิธีการรักษาต้องดึงกระดูกคอให้เข้าที่ และต้องใส่เฝือกที่คอเป็นเวลานาน เป็นการทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลที่หน้า ที่คอและที่ไหล่อีกการที่โจทก์ที่ 1 ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานระหว่างรักษาพยาบาล และต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือนจนถึงวันที่โจทก์เบิกความคอยังเคลื่อนไหวเป็นปกติไม่ได้ ถือได้ว่า ทำให้เสียหายต่ออนามัยและเสียเสรีภาพ จัดเป็นความเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 กรณีเช่นนี้ ศาลย่อมกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าทนทุกข์ทรมานให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาทนั้น เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเช่นเดียวกัน
ค่าเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถ จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่าโจทก์ที่ 1ไม่เสียหาย หากจะเสียหายก็ไม่เกิน 8 วัน วันละ 20 บาทเท่านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาอยู่เป็นเวลานานหลายเดือนในระหว่างรักษาตัวอยู่นั้นโจทก์ต้องเสียค่าจ้างรถแท็กซี่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลและจากบ้านไปที่ทำงาน อันเป็นผลจากการละเมิด จำเลยต้องชดใช้ให้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าเสียหาย 45 วัน วันละ 50 บาท รวมเป็นเงิน 2,250 บาทนั้น เป็นการเหมาะสมแล้ว
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่า ค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์นั้น รถโจทก์ที่ 1ราคาไม่ถึง 60,000 บาท ไม่มีการซื้อขายซากรถกันจริง และรถโจทก์ที่ 1 ซ่อมคืนสู่สภาพเดิมได้เสียค่าซ่อมไม่เกิน 23,600 บาทนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เอารถประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 2 ในราคาทุน 70,000 บาท แสดงว่ารถของโจทก์ที่ 1จะต้องมีราคาไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท ไม่เช่นนั้นคงไม่เอาประกันภัยไว้ในราคานี้ให้เสียดอกเบี้ยประกันสูงโดยใช่เหตุ และโจทก์ที่ 2 เป็นบริษัทประกันภัย ถ้ารถของโจทก์ที่ 1 เสียหายไม่มากและสามารถซ่อมให้คืนสภาพเดิมได้โดยเสียค่าซ่อมเพียง 23,600 บาท ตามใบเสนอราคาค่าซ่อมที่จำเลยอ้างเท่านั้นแล้วโจทก์ที่ 2 คงจะจัดการซ่อมแล้วไม่จ่ายเงินจำนวน 70,000 บาทให้โจทก์ที่ 1ซึ่งปรากฏว่าได้จ่ายไปตามเอกสารหมาย จ.7 และรับโอนซากรถมา ปรากฏตามหลักฐานใบเสนอราคาของบริษัทประชายนต์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถโฟล์คในประเทศไทยและเป็นอู่ซ่อมรถโฟล์คใหญ่ที่สุดว่าได้เสนอราคาค่าซ่อมเป็นเงินหกหมื่นบาทเศษ นายกล้วยไม้ พนักงานตีราคาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรทัดทองเซอร์วิส พยานจำเลยก็ยอมรับว่าอู่ของบริษัทประชายนต์ จำกัดเชื่อถือได้ ฉะนั้นจึงเชื่อว่า ราคาที่บริษัทประชายนต์ จำกัด เสนอตามเอกสารหมาย จ.9 ใกล้เคียงกับความจริงความเสียหายของรถโจทก์ที่ 1 ตามที่เห็นในภาพถ่ายหมาย จ.4 แสดงว่าเสียหายมาก ร้อยตำรวจโทยี่โถพยานโจทก์ว่าต้องใช้รถยกลากไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจ เมื่อคำนึงถึงราคาซ่อมและค่าเสื่อมราคาแล้ว การที่โจทก์ที่ 2 ขายซากรถไป 10,000 บาทแล้วเรียกให้จำเลยชดใช้ส่วนที่ยังขาด 60,000 บาท เห็นว่า เป็นค่าเสียหายพอสมควร”
พิพากษายืน
สรุป
โจทก์ถูกรถจำเลยชน รอยแผลเป็นซึ่งไม่ทำให้โจทก์เสียบุคลิกและโจทก์ต้องทนทุกข์ทรมาน เป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกัน โจทก์เรียกได้ตาม มาตรา 446 รถยนต์ราคา 70,000 บาท ถูกชนแล้วขายซากรถไป 10,000 บาท เรียกค่าเสียหายที่ขาดเงินไป 60,000 บาทได้