Home บทความคดีแพ่ง ท้าวแชร์ไม่ส่งค่าแชร์ ผิดยักยอกทรัพย์ได้หรือไม่

ท้าวแชร์ไม่ส่งค่าแชร์ ผิดยักยอกทรัพย์ได้หรือไม่

2376

ท้าวแชร์ไม่ส่งค่าแชร์ ผิดยักยอกทรัพย์ได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้เป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์รวมกัน 7 วง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1) ดังนี้

 

แชร์วงที่ 1 มีสมาชิก 27 คน จำนวน 34 หุ้นหรือมือ มือละ3,000 บาท ต่องวด งวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นเงินทุนกองกลางงวดละ 102,000บาท จำเลยรับเงินทุนกองกลางงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2537 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าวโดยการประมูลในวันที่ 25 ของทุกเดือนถัดไป จนครบงวดสุดท้ายวันที่ 25 กรกฎาคม 2540

 

แชร์วงที่ 2 และที่ 3 มีสมาชิกวงละ 20 คน และ 27 คนตามลำดับ จำนวนวงละ 30 มือ มือละ 1,000 บาท ต่องวดงวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นเงินทุนกองกลางงวดละ 30,000 บาท ต่อวง จำเลยรับเงินทุนกองกลางงวดแรกทั้งสองวงไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กันยายน2538 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าวแต่ละวง โดยการประมูลในวันที่ 4 ของทุกเดือนถัดไป จนครบงวดสุดท้ายทั้งสองวงในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541

 

แชร์วงที่ 4 และที่ 5 มีสมาชิกวงละ 21 คน จำนวนวงละ 22 มือมือละ 2,000 บาท ต่องวด งวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นทุนกองกลางงวดละ 44,000 บาทต่อวง จำเลยรับเงินทุนกองกลางงวดแรกทั้งสองวงไปแล้วเมื่อวันที่ 15พฤษภาคม 2538 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าวแต่ละงวด โดยการประมูลในวันที่ 15 ของทุกเดือนถัดไปจนครบงวดสุดท้ายทั้งสองวงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540

 

แชร์วงที่ 6 มีสมาชิก 14 คน จำนวน 14 มือ มือละ 5,000 บาทต่องวด งวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นเงินทุนกองกลางงวดละ 70,000 บาท จำเลยรับเงินทุนกองกลางงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าว โดยการประมูลในวันที่ 4 ของทุกเดือนถัดไปจนครบงวดสุดท้ายวันที่ 4 สิงหาคม 2540

 

แชร์วงที่ 7 มีสมาชิก 13 คน จำนวน 16 มือ มือละ 2,000 บาทต่องวด งวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นเงินทุนกองกลางงวดละ 32,000 บาท จำเลยรับเงินกองกลางงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2539 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าว โดยการประมูลในวันที่ 25 ของทุกเดือนถัดไป จนครบงวดสุดท้ายวันที่ 25 เมษายน 2540

 

ระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยเรียกเก็บเงินค่าแชร์จากนางสาวประดู่ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย4 วง เป็นแชร์วงที่ 1 จำนวน 3 มือ เป็นเงินรวม 234,000 บาทแชร์วงที่ 2 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท และแชร์วงที่ 5 จำนวน1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 325,000 บาทจากนางแพงพวย ผู้เสียหาย ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 2 วงเป็นแชร์วงที่ 2 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท และแชร์วงที่ 3 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น30,000 บาท จากนางแคแสด ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งรวมเล่นแชร์กับจำเลย 5 วง เป็นแชร์วงที่ 1 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 78,000 บาทแชร์วงที่ 2 จำนวน 3 มือ เป็นเงินรวม 45,000 บาท แชร์ที่ 3 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม 30,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม38,000 บาท และแชร์วงที่ 5 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม 76,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 267,000 บาท จากนางสาวเทียนหยดผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 1 วง เป็นแชร์วงที่ 4 จำนวน1 มือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,000 บาท จากนางสำรองผู้เสียหายที่ 5 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 4 วง เป็นแชร์วงที่ 2 จำนวน2 มือ เป็นเงินรวม 30,000 บาท แชร์วงที่ 3 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม30,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม 36,000 บาทและแชร์วงที่ 5 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 174,000 บาท จากนางเงิน ผู้เสียหายที่ 6 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 1 วง เป็นแชร์วงที่ 1 จำนวน 2 มือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 156,000บาท จากนางกระดังงา ผู้เสียหายที่ 7 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย1 วง เป็นแชร์วงที่ 7 จำนวน 3 มือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 66,000 บาทจากนางสาวจำปา ผู้เสียหายที่ 8 ซึ่งร่วมกันเล่นแชร์กับจำเลย 4 วง เป็นแชร์วงที่ 2 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาทแชร์วงที่ 3 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท และแชร์วงที่ 5 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม38,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 106,000 บาท จากนางมะขาม รัศมีเฟื่องฟูผู้เสียหายที่ 9 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 4 วง เป็นแชร์วงที่ 2 จำนวน 1 มือเป็นเงินรวม 15,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000บาท แชร์วงที่ 5 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท และแชร์วงที่ 7จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 2,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 113,000 บาทจากนางสาวกาหลง ผู้เสียหายที่ 10 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย3 วง เป็นแชร์วงที่ 4 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท แชร์วงที่ 5จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท และแชร์วงที่ 7 จำนวน 2 มือเป็นเงินรวม 44,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท จากนางมะพลับ ผู้เสียหายที่ 11 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 3 วง เป็นแชร์วงที่ 1จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 78,000 บาท แชร์วงที่ 2 จำนวน 2 มือเป็นเงินรวม 30,000 บาท และแชร์วงที่ 3 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม30,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 138,000 บาท และจากนางเทียนหอม ผู้เสียหายที่ 12 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 4 วง เป็นแชร์วงที่ 1 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 78,000 บาท แชร์วงที่ 2 จำนวน1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท แชร์วงที่ 3 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม15,000 บาท และแชร์วงที่ 6 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 25,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 133,000 บาท แล้วจำเลยยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสิบสองซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,352 พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 17 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสิบสองตามจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกจากผู้เสียหายแต่ละคนไป

 

จำเลยให้การปฏิเสธ

 

ระหว่างพิจารณา นางมะขาม รัศมีเฟื่องฟู ผู้เสียหายที่ 9 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1), 17 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 6 เดือน กระทงหนึ่งฐานยักยอกทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสิบสอง เป็นความผิดสิบสองกรรมสิบสองกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน เฉพาะข้อหาความผิดฐานเป็นนายวงแชร์ฯ คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุก 4 เดือน รวมสิบสามกระทง จำคุก 76 เดือน กับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน325,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3จำนวน 267,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 38,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 174,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 156,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 66,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 106,000บาท โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 113,000 บาท ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 120,000 บาท ผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 138,000 บาทและผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 133,000 บาท

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

โจทก์และจำเลยฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์ จัดให้มีการเล่นแชร์รวม 7 วง จำเลยรวบรวมเงินจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 12 และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไปแล้วหลายงวด แต่ทุกคนยังไม่เคยประมูลแชร์ได้รวมยอดเงินที่จำเลยเก็บไปจากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมมากถึงหนึ่งล้านบาทเศษแล้ว แชร์ล้มมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยโดยที่ยังไม่มีใครประมูลแชร์ ย่อมตกได้แก่ผู้ที่ชนะการประมูลแชร์ในงวดนั้น ๆ กรรมสิทธิ์ในเงินดังกล่าวจึงมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไป โจทก์เห็นว่า หากมีการประมูลแชร์แล้ว เงินจำนวนดังกล่าวย่อมตกได้แก่ผู้ที่ประมูลแชร์ได้จริง แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินที่จำเลยเรียกเก็บไปนั้นยังไม่มีการประมูลแชร์ เงินค่าแชร์ที่จำเลยเรียกเก็บจากลูกวงยังเป็นของลูกวงทุกคนอยู่ เพียงแต่จำเลยเป็นผู้ครอบครองเงินจำนวนดังกล่าวไว้เท่านั้น การที่จำเลยเรียกเก็บเงินค่าแชร์จากลูกวงทุกคนไว้ในครอบครอง แต่ไม่จัดให้มีการประมูลแชร์เพื่อให้ลูกวงรับเงินทุนกองกลางค่าแชร์แต่ละงวดไปกลับเบียดบังเอาเงินค่าแชร์ดังกล่าวไป ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้นเห็นว่า ตามที่โจทก์ฎีกามาเท่ากับอ้างว่าจำเลยไม่เคยจัดให้มีการประมูลแชร์เลย ได้แต่เรียกเก็บเงินไปไว้ที่จำเลยแล้วเบียดบังเอาเงินทั้งหมดนั้นไป แต่ตามทางนำสืบของโจทก์เองกลับปรากฏว่าพยานโจทก์ที่นำสืบหลายปากล้วนแต่เบิกความว่าจำเลยจัดให้มีการประมูลแชร์ไปแล้วหลายงวด โดยสถานที่จัดประมูลแชร์คือที่ร้านของจำเลยข้อเท็จจริงจึงมิได้เป็นไปดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การประมูลแชร์ตามวาระมีไปแล้วหลายครั้ง เพียงแต่แชร์ล้มเสียก่อนที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมประมูลได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ที่ประมูลแชร์ได้ต่างก็ได้รับเงินไปแล้ว มิใช่ว่ายังไม่เคยมีผู้ใดได้รับเงินกองกลางไป และตามคำฟ้องโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินในงวดหลัง ๆ ในช่วงเวลาที่การเล่นแชร์เริ่มจะไม่มั่นคงซึ่งอาจมีปัญหาในเรื่องการละเลยไม่จัดประมูลแชร์ได้แต่ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินทั้งหมดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งไปซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมยังไม่เคยประมูลแชร์ได้ จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินกองกลางที่จำเลยรวบรวมไป เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยไปแล้ว เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็ย่อมจะตกได้แก่ผู้นั้นไปกรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีก และหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็จะต้องรับผิดแทน ซึ่งความรับผิดในกรณีเช่นนี้เป็นความรับผิดในทางแพ่ง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมดังที่โจทก์กล่าวหาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานยักยอกชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกัน7 วง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534มาตรา 6(1) ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์รวมเจ็ดวงเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องวงแชร์ 7 วง นั้น แต่ละวงเริ่มเล่นในวันเวลาต่างกัน วันเกิดเหตุที่กระทำความผิดจะต้องเป็นวันเดียวกัน เมื่อแชร์แต่ละวงเล่นกันคนละวัน ซึ่งไม่เกินสามวงจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด เห็นว่า แม้ตามฟ้องจะปรากฏว่าวันเวลาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์แต่ละวงจะแตกต่างกันอยู่ และไม่มีวันใดมีการเริ่มเล่นแชร์ขึ้นใหม่พร้อมกันถึง 3 วงก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6นั้นได้บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แชร์ที่จำเลยจัดให้มีการเล่นทั้งหมดซึ่งมีจำเลยเป็นนายวงแชร์อยู่นั้น มีจำนวนรวมกันอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสามวงตามที่จำกัดจำนวนไว้ในกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 นี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

 

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 17 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 91 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหายโจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง”

 

พิพากษายืน แต่ให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์

สรุป

เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีจำเลยเป็นนายวงแชร์ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสามวงจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 4,6,17 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์

Facebook Comments