Home บทความคดีแพ่ง ท้าวแชร์ฟ้องลูกแชร์ ต้องสำรองจ่ายเงินค่าแชร์ก่อนหรือไม่

ท้าวแชร์ฟ้องลูกแชร์ ต้องสำรองจ่ายเงินค่าแชร์ก่อนหรือไม่

4405

ท้าวแชร์ฟ้องลูกแชร์ ต้องสำรองจ่ายเงินค่าแชร์ก่อนหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2535

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหัวหน้าวงแชร์ได้ร่วมเล่นแชร์กับจำเลยและบุคคลอื่น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2528 รวมทั้งหมด 24 มือ มือละ5,000 บาท เป็นแชร์ดอกหัก จำเลยเล่น 1 มือ กำหนดประมูลแชร์ทุกวันที่ 15 ของเดือน ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2528 จำเลยประมูลได้และได้รับเงินไปจำนวน 88,600 บาท หลังจากนั้นจำเลยส่งเงินค่าแชร์ตลอดมาและเมื่อถึงงวดวันที่ 15 พฤษภาคม 2529 จำเลยก็ไม่ส่งเงินค่าแชร์เลย โจทก์ได้ออกเงินค่าแชร์ให้จำเลยไปก่อนถึงเดือนกุมภาพันธ์2530 รวม 10 งวด เป็นเงิน 50,000 บาท ซึ่งเงินดังกล่าวจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,875 บาท แต่จำเลยไม่ชำระขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 51,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยร่วมเล่นแชร์กับโจทก์จริง แต่มีการเล่นแชร์เพียง 20 มือ ไม่ใช่ 24 มือ เมื่อประมาณเดือนตุลาคม2528 จำเลยประมูลแชร์ได้มีสิทธิได้รับเงินทั้งสิ้น 90,600 บาทแต่จำเลยได้รับเงินเพียง 71,000 บาท จำเลยได้ส่งเงินค่าแชร์ถึงเดือนพฤษภาคม 2529 โจทก์ได้ตกลงกับจำเลยว่าค่าแชร์ที่เหลืออีก 6 งวด โจทก์จะเป็นผู้ออกแทนจำเลย เนื่องจากโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยค่าแชร์รายวันซึ่งโจทก์เป็นหัวหน้าวงแชร์รายวันด้วยจำนวน 110,000 บาท จำเลยมิได้ค้างส่งค่าแชร์ โจทก์ไม่เคยชำระหนี้ค่างวดแชร์แทนจำเลยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริงขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องมิให้เกิน 1,875 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,000 บาทพร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16กุมภาพันธ์ 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนายวงแชร์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2528โจทก์ได้เล่นแชร์กับจำเลยและบุคคลอื่นอีกรวม 20 คน จำนวน 24 มือมือละ 5,000 บาท กำหนดประมูลแชร์ทุกวันที่ 15 ของเดือน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2528 จำเลยประมูลแชร์ได้โดยยอมเสียดอกเบี้ย1,650 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ส่งเงินค่าแชร์ตลอดมา จนถึงงวดวันที่ 15 พฤษภาคม 2529 แล้วจำเลยก็ไม่ส่งค่าแชร์ที่เหลืออีก10 งวด โจทก์ชำระค่าแชร์ให้ผู้ประมูลแชร์แทนจำเลยไป 4 งวดเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วโจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกค่าแชร์ที่ค้างจำนวน 10 งวด เป็นเงิน 50,000 บาท ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า เมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้แล้วค้างชำระค่าแชร์ในงวดต่อมา โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ชำระค่าแชร์แทนจำเลยไปบางงวดแล้วจะฟ้องให้จำเลยชำระค่าแชร์ที่ค้างทั้งหมดได้หรือไม่ ตามทางนำสืบของโจทก์เห็นได้ว่า การเล่นแชร์นั้นลูกวงแชร์ต่างเชื่อถือนายวงแชร์เป็นสำคัญ นายวงแชร์มีหน้าที่ต่อลูกวงแชร์ในการรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์แต่ละคนทั้งที่ประมูลแล้วและยังมิได้ประมูลส่งแก่ลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ในงวดนั้น ส่วนลูกวงแชร์ก็มีหน้าที่ต้องส่งเงินค่าแชร์ในแต่ละงวดให้แก่นายวงแชร์เพื่อรวบรวมมอบให้แก่ลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ จึงเห็นว่า นายวงแชร์มีนิติสัมพันธ์อยู่กับลูกวงแชร์แต่ละคน เมื่อลักษณะของการเล่นแชร์เป็นเช่นนี้จำเลยซึ่งเป็นลูกวงแชร์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าแชร์ในแต่ละงวดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ หากจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าแชร์ในงวดนั้นได้โดยตรง หาจำต้องอาศัยสิทธิหรือรับช่วงสิทธิของลูกวงแชร์ที่ประมูลได้แต่อย่างใดไม่การที่โจทก์ชำระค่าแชร์แทนจำเลยไปบางงวดก็เพื่อป้องกันมิให้ถูกลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ฟ้องร้องเท่านั้น หาใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องชำระแทนจำเลยไปก่อนแล้วจึงจะเกิดสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยในภายหลังไม่ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าแชร์จำนวน 10 งวด เป็นเงิน 50,000 บาทโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกเงินโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ชำระค่าแชร์แทนจำเลยไปแล้วเพียงใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่าโจทก์ชำระค่าแชร์แทนจำเลยจำนวน 4 งวดเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

สรุป

ในการเล่นแชร์ลูกวงแชร์ต่างเชื่อถือนายวงแชร์เป็นสำคัญนายวงแชร์มีหน้าที่ต่อลูกวงแชร์ในการรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์แต่ละคนทั้งที่ประมูลแล้วและยังมิได้ประมูลส่งแก่ลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ในงวดนั้น ส่วนลูกวงแชร์ก็มีหน้าที่ต้องส่งเงินค่าแชร์ในแต่ละงวดให้แก่นายวงแชร์เพื่อรวบรวมมอบให้แก่ลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ นายวงแชร์จึงมีนิติสัมพันธ์อยู่กับลูกวงแชร์แต่ละคนดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นลูกวงแชร์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าแชร์ในแต่ละงวดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ หากจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าแชร์ในงวดนั้นได้โดยตรง หาจำต้องอาศัยสิทธิหรือรับช่วงสิทธิของลูกวงแชร์ที่ประมูลได้แต่อย่างใดไม่การที่โจทก์ชำระค่าแชร์แทนจำเลยไปบางงวดก็เพื่อป้องกันมิให้ถูกลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ฟ้องร้องเท่านั้น หาใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องชำระแทนจำเลยไปก่อนแล้วจึงจะเกิดสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยในภายหลังไม่ เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าแชร์จำนวน 10 งวด เป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกเงินโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ชำระค่าแชร์แทนจำเลยไปแล้วเพียงใด.

Facebook Comments