Home บทความ บอกเลิกสัญญาไม่ชอบ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

บอกเลิกสัญญาไม่ชอบ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

2870

บอกเลิกสัญญาไม่ชอบ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2552

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,368,998 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,343,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,363,501.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,343,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงจำเลยจะต้องปลูกบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2540 นั่นก็หมายความว่าบ้านจะต้องแล้วเสร็จทุกอย่างรวมทั้งรายละเอียดพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่กลับปรากฎว่าภายในเดือนกันยายน 2540 ดังกล่าว บ้านหาได้แล้วเสร็จไม่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เพียงแต่ขอระงับการผ่อนชำระค่างวดไว้ก่อน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เคร่งครับเรื่องระยะเวลา แต่ถือเอาความสำเร็จเรียบร้อยของบ้านเป็นสำคัญ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงาน 9 รายการ จำเลยก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีรายการต้องแก้ไขเพียงแต่ขอให้โจทก์ชำระเงินดาวน์ที่ค้างอยู่ทั้งหมดก่อน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 18 มีนาคม 2541 ปรากฎว่าก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ 1 วัน คือในวันที่ 17 มีนาคม 2541 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 21 รายการ ครั้นต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยสร้างบ้านให้โจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้โจทก์ไปตรวจความเรียบร้อยของบ้านในวันที่ 16 เมษายน 2541 อันแสดงให้เห็นว่าตามที่โจทก์แจ้งให้แก้ไขงานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541 นั้น จำเลยได้แก้ไขงานให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฎว่าในวันที่ 16 เมษายน 2541 ซึ่งมีการตรวจความเรียบร้อยดังกล่าว โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 20 รายการ จากนั้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ปรากฎว่าโจทก์ไม่ไปตามกำหนดนัด แต่หลังจากวันนัด 3 วัน คือในวันที่ 23 พฤษภาคม 2541 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย ขอยกเลิกวันโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือฉบับสุดท้ายแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 3 มิถุนายน 2541 แต่ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 ก่อนวันนัด 3 วัน บิดาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า จำเลยยังแก้ไขงานไม่เสร็จเรียบร้อยเกือบ 30 รายการ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าในทัศนะของโจทก์นั้น จำเลยยังก่อสร้างบ้านให้ไม่เสร็จเรียบร้อย ดังนั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ถือเอาระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านเป็นสำคัญแต่ถือเอาการก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยเป็นสำคัญแล้ว เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีเอกสารใดมานำสืบให้เห็นว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผิดวิสัยที่จำเลยเป็นถึงบริษัทมหาชนรับสร้างบ้านที่มีคุณภาพแต่ไม่ปรากฏเอกสารใดมายืนยันว่าที่โจทก์ให้มีการแก้ไขงานนั้น คนงานของจำเลยได้แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีวิศวกรผู้ควบคุมงานเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องเห็นว่าเสร็จเรียบร้อยแล้วจริง แม้จำเลยมีนายใบเตย ผู้ควบคุมงานก่อสร้างของจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยได้แก้ไขงานครั้งสุดท้ายให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้วก็ตาม ก็เป็นคำเบิกความที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน อันเป็นการผิดวิสัยของผู้รับสร้างบ้านที่มีคุณภาพพึงกระทำ โดยเฉพาะกรณีของโจทก์มีการขอให้แก้ไขงานหลายครั้งชี้ให้เห็นว่าลูกค้ารายนี้น่าจะมีปัญหา แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีเอกสารหรือภาพถ่ายประกอบสัญญาไว้ เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย จำเลยกลับบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์โดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การบอกเลิกสัญญาของจำเลย จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อปรากฎว่าจำเลยขายบ้านไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไปสัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 2,343,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2542 จึงให้ตามที่โจทก์ขอที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาท

สรุป

โจทก์และจำเลยต่างไม่ถือเอาระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านเป็นสำคัญ แต่ถือเอาการก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 387 เมื่อปรากฎว่าจำเลยขายบ้านไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไป สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับไว้ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

Facebook Comments