Home บทความ สถาบันการเงินไม่อนุมัติการจ่ายเงิน ถือเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่

สถาบันการเงินไม่อนุมัติการจ่ายเงิน ถือเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่

1234

สถาบันการเงินไม่อนุมัติการจ่ายเงิน ถือเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9047/2544

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์จากจำเลยในราคา 1,316,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้วจำนวน 336,200 บาท โดยในวันทำสัญญาวางเงินมัดจำ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 24 งวด ทุกวันที่ 13 ของเดือน เริ่มตั้งแต่งวดแรกวันที่ 13 กันยายน 2538 เป็นต้นมา โจทก์ได้ผ่อนชำระเงินครบ 24 งวดตามกำหนด รวมเป็นเงินที่ชำระทั้งสิ้น 336,200 บาท แต่จำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยก่อสร้างบ้านดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จำเลยได้รับหนังสือโดยชอบแล้วเพิกเฉย จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันฟ้อง จำนวน 15,474.41 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 351,674.41 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 351,674.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 336,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างโดยปรับพื้นที่โครงการวางสาธารณูปโภค ยังคงเหลือเฉพาะการก่อสร้างตัวบ้านเท่านั้น เหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากสถาบันการเงินงดปล่อยสินเชื่อ จึงขาดเงินทุนในการก่อสร้างบ้านตามโครงการโจทก์ถือโอกาสบอกเลิกสัญญาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยยังไม่ผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง

 

ก่อนสืบพยาน คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันโดยจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามคำฟ้อง หนี้ถึงกำหนดชำระจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาเพียงแต่จำเลยยกข้อต่อสู้ในประเด็นที่ว่า เหตุที่ไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้เสร็จตามสัญญาได้ เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยเงินกู้ให้แก่จำเลยเพื่อนำมาลงทุนในการก่อสร้างโจทก์แถลงไม่สืบพยาน

 

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 336,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยค้างชำระนับถึงวันฟ้อง (12 มิถุนายน 2541)ต้องไม่เกิน 15,474.41 บาท

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

 

จำเลยฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านทาวน์เฮาส์แบบนันทกร ขนาด 2 ชั้น พร้อมที่ดินเนื้อที่ 28 ตารางวา แปลงหมายเลขที่เอ็นที 01 ในโครงการบ้านนันทิชา 3 อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี จากจำเลย ในราคา 1,316,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำและเงินในระหว่างการเตรียมงานและการก่อสร้าง 24 งวด แก่จำเลยไปครบถ้วนแล้วจำนวน 336,200 บาท แต่จำเลยผิดนัดผิดสัญญาไม่ยอมก่อสร้างบ้านพิพาทให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและขอเงินจำนวนดังกล่าวคืนพร้อมดอกเบี้ย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยเงินกู้แก่จำเลยเพื่อนำมาลงทุนก่อสร้างบ้านพิพาทนั้น ถือได้หรือไม่ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 บัญญัติว่า คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้นจากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่จำเลยได้ประกาศขายโครงการก่อสร้างบ้านที่พักอาศัยแก่ประชาชนโดยทั่วไปรวมทั้งโจทก์ไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้ตระเตรียมเงินลงทุนไว้ให้พร้อมเสียก่อน เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุนโดยสถาบันการเงินระงับการให้กู้ในระหว่างนั้น อันเป็นผลมาจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุให้การดำเนินกิจการโครงการก่อสร้างหยุดชะงัก อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุนครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยโดยแท้ที่ไม่เตรียมป้องกันทั้ง ๆ ที่สามารถป้องกันได้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…

 

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจากจำเลยมาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และศาลล่างทั้งสองพิจารณาให้ตามที่โจทก์ขอมาในฟ้องโดยอาศัยเหตุที่ว่าจำเลยแถลงยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้องมาไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกร้องจากกันในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

 

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 336,200 บาท นับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

สรุป

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นจะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลนั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้ผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

จำเลยประกาศขายโครงการบ้านที่พักอาศัยแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งโจทก์ไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้เตรียมเงินลงทุนไว้ให้พร้อมเสียก่อนต่อมาเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุนโดยสถาบันการเงินระงับการให้กู้อันเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักดังนี้การที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินทุนดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมป้องกันทั้ง ๆ ที่สามารถป้องกันได้จึงไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด

Facebook Comments