Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ สัญญาประกันภัยมีแบบหรือไม่ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่

สัญญาประกันภัยมีแบบหรือไม่ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่

1537

สัญญาประกันภัยมีแบบหรือไม่ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5133/2542

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยหมู่รถยนต์ของโจทก์รวม 3 คัน คือ รถยนต์อีซูซุหมายเลขทะเบียน 81-0707 ขอนแก่น ในวงเงิน 500,000 บาท รถยนต์อีซูซุหมายเลขทะเบียน 80-9320 ขอนแก่น ในวงเงิน 400,000 บาท และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82-0311 นครราชสีมา ในวงเงิน 250,000 บาท นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2536 จำเลยออกกรมธรรม์ประกันภัยให้โจทก์เพียง 1 ฉบับ เฉพาะรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82-0311 นครราชสีมา เท่านั้นแต่จำเลยนำเบี้ยประกันภัยของรถยนต์อีก 2 คัน ไปคำนวณหักส่วนลดให้ 10 เปอร์เซ็นต์ในกรณีประกันภัยหมู่ด้วย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2535 เวลาประมาณ 9 นาฬิการถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-0707 ขอนแก่น ของโจทก์ประสบอุบัติเหตุชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-5421 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่บริษัท ร.ส.พ. ประกันภัย จำกัด ได้รับความเสียหาย บริษัทดังกล่าวได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์เป็นเงิน 170,000 บาท และเฉี่ยวกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ฉ-8692 กรุงเทพมหานคร แล้วพลิกคว่ำลงโดนรถยนต์หมายเลขทะเบียน2ว – 0142 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่บริษัททิพยประกันภัย จำกัด ได้รับความเสียหาย บริษัทดังกล่าวได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์เป็นเงิน245,000 บาท ส่วนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-0707 ขอนแก่น ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2535 รถยนต์หมายเลขทะเบียน 80 – 9320 ขอนแก่น ประสบอุบัติเหตุชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน82 – 0230 ชลบุรี ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 111,219 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น776,219 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 776,219 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร และโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81 – 0707ขอนแก่น และ 80 – 9320 ขอนแก่น หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นหนังสือปลอมจำเลยไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81 – 0707 ขอนแก่น และ 80 – 9320 ขอนแก่น จากโจทก์ โจทก์ไม่เคยชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์ทั้งสองคันแก่จำเลยนายดาวกระจาย แจ้งคง ไม่ได้เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจจากจำเลยให้ทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 5421 กรุงเทพมหานคร และ 2ว – 0142 กรุงเทพมหานครส่วนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80 – 0707 ขอนแก่น (ที่ถูก 81 – 0707 ขอนแก่น)และ 80 – 9320 ขอนแก่น ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ค่าซ่อมไม่เกินคันละ30,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2535 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา โจทก์โดยนายน้ำตาล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ขอเอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน81 – 0707 ขอนแก่น, 80 – 9320 ขอนแก่น และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 – 0311นครราชสีมา ไว้แก่นายดาวกระจาย แจ้งคง ผู้จัดการจำเลย สาขาขอนแก่น ต่อมาเวลาประมาณ 9 นาฬิกา รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 0707 ขอนแก่น ประสบอุบัติเหตุชนกับรถยนต์บรรทุกคันอื่นเสียหาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 0707 ขอนแก่น จากโจทก์หรือไม่โจทก์มีตัวโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนายดาวกระจายผู้จัดการจำเลยสาขาขอนแก่น มาเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2535 เวลาประมาณ7 นาฬิกา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์โทรศัพท์แจ้งแก่นายดาวกระจายขอเอาประกันภัยรถยนต์บรรทุก 2 คันและรถพ่วง 1 คัน นายดาวกระจายรับแจ้งการขอเอาประกันภัยและส่งหลักฐานไปยังบริษัทจำเลย สำนักงานใหญ่ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า นายดาวกระจายเป็นตัวแทนกระทำการแทนจำเลย สัญญาประกันภัยจึงเกิดนับแต่นายดาวกระจายรับแจ้งคำขอเอาประกันภัยและเอกสารหมาย จ.3 ดังกล่าวเป็นหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งลงลายมือชื่อของนายดาวกระจายตัวแทนของจำเลย โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคแรก ดังนี้ เห็นว่า สัญญาประกันภัยนั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้ เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า นายดาวกระจายเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจทำสัญญาประกันภัยแทนจำเลย กลับปรากฏจากคำเบิกความของนายดาวกระจายพยานโจทก์เองที่เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า พยานไม่มีอำนาจรับประกันภัย ต้องส่งเรื่องไปให้บริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ เป็นผู้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ ซึ่งนายทอง ผู้จัดการแผนกกฎหมายของจำเลยก็มาเบิกความเป็นพยานจำเลยยืนยันว่าตามปกติผู้เอาประกันภัยต้องมายื่นคำขอเอาประกันภัยต่อบริษัทจำเลยหรือตัวแทนของจำเลย และต้องนำรถที่จะเอาประกันภัยมาตรวจสภาพรถด้วย เมื่อตัวแทนของจำเลยได้รับคำขอเอาประกันภัยแล้วต้องส่งให้สำนักงานใหญ่ทราบโดยทางโทรสาร เพื่อให้บริษัทรับการประกันภัยและคุ้มครองรถ ฝ่ายรับประกันภัยของบริษัทก็มีหน้าที่ตรวจดูเอกสารต่าง ๆ ว่าเข้าเงื่อนไขในการรับประกันภัยหรือไม่ หากถูกต้องก็จะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยต่อไป สำหรับรถยนต์บรรทุกคันพิพาท บริษัทจำเลย สำนักงานใหญ่ได้รับคำขอเอาประกันภัยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2535เวลา 13.55 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่รถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุแล้วเห็นว่า คำขอเอาประกันภัยรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 เป็นเพียงคำเสนอขอเอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทที่โจทก์เสนอต่อจำเลยเท่านั้น การที่นายดาวกระจายผู้จัดการจำเลยสาขาขอนแก่น รับคำขอเอาประกันภัยดังกล่าวไว้จากโจทก์ก็เพียงแต่เพื่อส่งให้แก่บริษัทจำเลย สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานครพิจารณาว่าจะรับประกันภัยได้หรือไม่เท่านั้น หากพิจารณาแล้วรับประกันภัยได้ บริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ก็จะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยต่อไป การที่นายดาวกระจายรับคำขอเอาประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ไว้เพื่อส่งให้แก่บริษัทจำเลย สำนักงานใหญ่ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นคำสนองรับประกันภัยของจำเลย แต่เป็นเพียงการรับคำเสนอของโจทก์เพื่อส่งไปให้บริษัทจำเลย สำนักงานใหญ่พิจารณาว่าจะรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าคำเสนอดังกล่าวนั้นบริษัทจำเลย สำนักงานใหญ่เพิ่งได้รับเมื่อเวลา 13.55 นาฬิกา ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 อันเป็นเวลาหลังจากที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทได้เกิดเหตุไปแล้วเมื่อเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ทั้งไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยได้มีคำสนองตอบรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทเมื่อใด กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า ขณะที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทเกิดอุบัติเหตุนั้น จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แล้ว อันจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

สัญญาประกันภัยกฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้ เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญมิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน

ส.ผู้จัดการจำเลย สาขาขอนแก่น มิได้เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจทำสัญญาประกันภัยแทนจำเลย ส. จึงไม่มีอำนาจรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทไว้จากโจทก์ แต่การที่ ส. รับคำขอเอาประกันภัยไว้จากโจทก์ก็เพียงเพื่อส่งคำเสนอของโจทก์ให้แก่บริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่พิจารณาว่าจะรับประกันภัยได้หรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นคำสนองรับประกันภัยเมื่อบริษัทจำเลย สำนักงานใหญ่ เพิ่งได้รับคำเสนอของโจทก์ เมื่อเวลา 13.55 นาฬิกา อันเป็นเวลาหลังจากที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทได้เกิดเหตุไปแล้วทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสนองตอบรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทเมื่อใดจึงฟังไม่ได้ว่า ขณะที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทเกิดอุบัติเหตุนั้นจำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แล้ว อันจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

Facebook Comments