Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ขับรถบรรทุกออกจากจุดจอด ชนกระเด็นไปสองสามเมตร ฟ้องเจตนาฆ่าได้หรือไม่

ขับรถบรรทุกออกจากจุดจอด ชนกระเด็นไปสองสามเมตร ฟ้องเจตนาฆ่าได้หรือไม่

1806

ขับรถบรรทุกออกจากจุดจอด ชนกระเด็นไปสองสามเมตร ฟ้องเจตนาฆ่าได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2292/2541

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(2), 80, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 22, 139, 152 คืนรถบรรทุกหกล้อแก่เจ้าของ

จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุได้กระทำการตามหน้าที่

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 139 (ที่ถูกมาตรา 139(1), 152, 154 ที่ถูกมาตรา 154(2)) เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษข้อหาทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ลงโทษจำคุก 1 ปีข้อหาขับรถบรรทุกในเวลาห้าม ลงโทษปรับ 1,000 บาท ข้อหาขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ลงโทษปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาขับรถบรรทุกในเวลาห้าม และข้อหาขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษข้อหาขับรถบรรทุกในเวลาห้าม ปรับ 500 บาท และข้อหาขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรปรับ 500 บาท รวมลงโทษจำเลย จำคุก 1 ปี ปรับ 1,000 บท คืนรถบรรทุกหกล้อของกลางแก่เจ้าของ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุได้กระทำการตามหน้าที่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยขับรถบรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 88-8849 กรุงเทพมหานคร โดยฝ่าฝืนข้อบังคับเจ้าพนักงานตำรวจจราจรซึ่งห้ามรถบรรทุกหกล้อเดินในเวลาห้ามและจำเลยขับรถคันดังกล่าวฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง ขณะนั้นสิบตำรวจตรีกุหลาบ วิทยาผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจราจรและปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เกิดเหตุเห็นการกระทำของจำเลยดังกล่าว ผู้เสียหายได้ขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามรถคันดังกล่าวเพื่อจะจับจำเลยและติดตามไปทันขณะที่รถหยุดอยู่บริเวณปากซอยกำนันธารทิพย์ ผู้เสียหายได้บอกให้จำเลยจอดรถที่ข้างทางแล้วผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดขวางหน้ารถไว้ในระยะใกล้กันเพียงเล็กน้อย จำเลยกลับขับรถชนท้ายรถจักรยานยนต์จนเป็นเหตุให้ทั้งรถจักรยานยนต์และผู้เสียหายกระเด็นไปทางด้านขวาของรถจำเลยและล้มอยู่บนถนน โดยผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและด้านท้ายรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายจากนั้นจำเลยขับรถหลบหนีไปทันที่ แต่ผู้เสียหายติดตามไปจับจำเลยได้คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุได้กระทำการตามหน้าที่หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนายดอกบัว เป็นประจักษ์พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จำเลยขับรถเข้าชนรถจักรยานยนต์มีข้อความตอนหนึ่งตรงกันว่า ขณะนั้นจำเลยเพิ่งขับรถเคลื่อนที่ออกจากจุดที่หยุดรถ และนายดอกบัวก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับความเร็วของรถที่จำเลยขับเคลื่อนที่ออกไปในขณะนั้นว่ามีความเร็วยังไม่มาก ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่จำเลยขับรถเข้าชนรถจักรยานยนต์นั้น จำเลยเพิ่งขับรถเคลื่อนที่ออกจากจุดที่หยุดรถตรงบริเวณที่ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์ขวางหน้ารถไว้โดยขับด้วยความเร็วยังไม่มาก ดังนี้ เมื่อรถจักรยานยนต์จอดขวางหน้ารถที่จำเลยขับในระยะใกล้กัน และได้ความตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยขับรถเข้าชนรถจักรยานยนต์นั้นเป็นเหตุให้ทั้งรถจักรยานยนต์และผู้เสียหายกระเด็นไปทางด้านขวาของรถจำเลยและล้มอยู่บนถนนห่างจากจุดชนประมาณ 2 ถึง 3 เมตรแสดงว่าจำเลยขับรถชนรถจักรยานยนต์ไม่แรงจึงหาใช่ว่าจำเลยขับรถเคลื่อนที่ออกไปโดยเร่งเครื่องยนต์อย่างแรงเพื่อให้รถพุ่งชนผู้เสียหายดังโจทก์ฎีกาไม่ หลังจากจำเลยขับรถชนรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมาแล้วก็ปรากฏว่าจำเลยขับรถหลบหนีไปทันทีหาได้ขับรถตามไปชนหรือทับผู้เสียหายขณะล้มอยู่บนถนนไม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงว่า จำเลยมีเจตนาเพื่อขับรถชนรถจักรยานยนต์และย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นว่าเป็นการทำร้ายผู้เสียหายด้วยเท่านั้น หาได้มีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลคือขับรถชนผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตายดังโจทก์ฎีกาไม่ เพราะหากจำเลยมีเจตนาเช่นนั้นจำเลยก็คงขับรถตามไปชนหรือทับผู้เสียหายที่ล้มอยู่บนถนนเพื่อให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย แต่จำเลยหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ทั้ง ๆ ที่จำเลยมีโอกาสจะกระทำดังกล่าวมาแล้วได้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

การที่จำเลยขับรถบรรทุกออกจากจุดจอดชนรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเป็นเหตุให้ผู้เสียหายและรถจักรยานยนต์กระเด็นไปห่างจากจุดชน 2 ถึง 3 เมตรแสดงว่าจำเลยขับรถชนรถจักรยานยนต์ไม่แรง หลังจากขับรถจักรยานยนต์แล้วจำเลยขับรถหนีไปทันที หาได้ขับรถตามไปชน หรือทับผู้เสียหายขณะล้มอยู่บนถนนไม่ แสดงว่าจำเลยมีเจตนา ขับรถชนจักรยานยนต์โดยเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นว่าเป็น การทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น

Facebook Comments