หมิ่นประมาทเป็นเหตุหย่าเหมือนหรือต่างกับความผิดในคดีอาญาศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6023/2537
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีจำเลย จดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2515มีบุตรด้วยกัน 3 คน มีสินสมรส คือ ที่ดินและบ้านรวมราคา 480,000 บาทโจทก์จำเลยรับราชการเป็นครู จำเลยมีนิสัยเอาแต่ใจตัว ก้าวร้าวไม่เคารพยำเกรงโจทก์และญาติผู้ใหญ่ของโจทก์ มักกล่าวคำสบประมาทดูหมิ่นเหยียดหยาม หมิ่นประมาทโจทก์และพาดพิงถึงบุพการีของโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงเสมอ และก้าวก่ายหน้าที่การงานของโจทก์เมื่อปี 2527 จำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้าน โจทก์จึงต้องไปเช่าบ้านอยู่ตามลำพัง และจำเลยยังได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์กล่าวหาว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับครูสตรีในบังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง จำเลยเคยท้าทายขอหย่ากับโจทก์โดยเรียกเอาเงิน 300,000 บาทเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร เมื่อเอาสภาพฐานะความเป็นอยู่ร่วมกันมาคำนึงประกอบ เป็นการทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง เป็นการหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นภริยาโจทก์อย่างร้ายแรง ขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษาหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้แบ่งสินสมรสคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่ภริยาด้วยความรักเคารพและซื่อสัตย์ไม่เคยหึงหวงโจทก์ ไม่ได้ก้าวก่ายงานของโจทก์ ไม่เคยไล่โจทก์ออกจากบ้านแต่โจทก์แยกไปอยู่โดยลำพังเอง จำเลยไม่เคยร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่เคยขอหย่ากับโจทก์ไม่เคยทำการใด ๆ อันเป็นการทรมานจิตใจโจทก์ ทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งจำเลยหามาได้เพียงผู้เดียวไม่ใช่สินสมรส ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างไรขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์สละประเด็นเรื่องขอแบ่งสินสมรสโดยขอยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลยและบุตร
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2515 ทั้งคู่รับราชการเป็นครู ปรากฏตามทะเบียนการสมรสเอกสารหมาย จ.1 มีบุตรด้วยกัน 3 คน หลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วอยู่กินกันที่บ้านบิดามารดาของโจทก์ที่ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมาต่อมาปี 2520 โจทก์ได้เลื่อนขึ้นเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านโตนดโจทก์จำเลยจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านพักครูที่โรงเรียนบ้านโตนด ต่อมาต้นปี 2528 โจทก์ไปเช่าบ้านอยู่ที่ถนนมหาดไทย ตำบลในเมืองอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และโจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาข้อแรกของโจทก์ที่ว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่ว่าจำเลยหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า คำฟ้องซึ่งกล่าวอ้างถึงเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)ในเหตุหมิ่นประมาทนั้นไม่เหมือนคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) วรรคสอง บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้กล่าวถึงถ้อยคำพูดอันเกี่ยวกับข้อความหมิ่นประมาทโดยบริบูรณ์คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเองก้าวร้าวไม่มีเหตุผล ไม่ให้ความเคารพยำเกรงโจทก์และญาติผู้ใหญ่ของโจทก์มักกล่าวถ้อยคำสบประมาทดูหมิ่นเหยียดหยามหรือหมิ่นประมาทโจทก์บางครั้งก็พาดพิงถึงบุพการีโจทก์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเสมอ ๆ การกล่าวถ้อยคำสบประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงนั้นกระทำได้แม้กระทั่งต่อหน้าข้าราชการครูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ และโจทก์ได้บรรยายสรุปไว้ในตอนท้ายของคำฟ้องด้วยว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลย ฯลฯ เป็นการหมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีโจทก์ ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ฯลฯ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงเหตุฟ้องหย่าว่าจำเลยได้หมิ่นประมาทและเหยียดหยามโจทก์และบุพการีของโจทก์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) บังคับไว้แล้ว ย่อมเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ว่า การที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาตามหนังสือขอความเป็นธรรมเอกสารหมาย จ.3เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันนั้น ในพฤติการณ์ที่จำเลยถูกกดดันด้านการเงินซึ่งโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการกู้เงินจากธนาคารในงวดที่ 2 เพื่อนำมาใช้สร้างบ้านอยู่อาศัยกับบุตรโดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่ได้ให้ความยินยอมมาแล้วในงวดที่ 1 ตลอดทั้งจำเลยตกอยู่ในภาวะที่อาจจะสูญเสียโจทก์ผู้เป็นสามีไปเช่นนี้จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จำเลยขวนขวายเพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเพื่อปกป้องสิทธิในครอบครัวของตนตลอดจนของบุตรผู้เยาว์ของตน กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาตามฎีกาของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”