อายุความต่อเนื่องในคดีความผิดหมิ่นประมาทศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2272/2527
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้จัดการหรือผู้ครอบครองสถานการค้าประเภทสถานบริการ ซึ่งจำหน่ายเครื่องดื่มและสุราโดยมีหญิงบริการ จำเลยบังอาจโฆษณาหมิ่นประมาทโจทก์ต่อบุคคลทั่วไปด้วยความเท็จโดยปิดภาพถ่ายโจทก์ไว้ที่ข้างฝาในสถานบริการของจำเลยและเขียนข้อความภาษาอังกฤษกำกับว่า “Bad Debts Manny Fierra 15910 ฿” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่าลูกหนี้ชั้นเลว แมนนี่ เฟียร่า เป็นหนี้เงิน 15,910 บาท แล้วไม่ใช้ คำว่าแมนนี่ เฟียร่า เป็นชื่อของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากบุคคลอื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 326, 328 ให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวันบางกอกโพสต์และเดอะเนชั่นฉบับละ 15 วัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 328 วางโทษปรับ1,000 บาท ถ้าไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันบางกอกโพสต์และเดอะเนชั่นฉบับละ 3 วัน โดยจำเลยออกค่าโฆษณากับให้ยึดและทำลายเอกสารหมาย จ.1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ไม่ยึดหรือทำลายป้ายประกาศเอกสารหมาย จ.1
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ทราบเรื่องความผิดคดีนี้และรู้ตัวผู้กระทำผิดคือจำเลยก่อนวันร้องทุกข์เกิน 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คือวันที่ 2 กันยายน 2524 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 กันยายน2524 อันเป็นระยะเวลาหลังมีการปลดป้ายประกาศออกเพียง 5 วันคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่จำเลยปิดประกาศมีข้อความตามฟ้องนั้นเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าข้อความที่จำเลยปิดประกาศนั้นเป็นการกล่าวตามความเป็นจริงถึงเรื่องที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยแล้วไม่ชำระหนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติว่า”ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฯลฯ” เห็นว่าคำว่า “ใส่ความ” นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่าหมายถึง”พูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย” ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยปิดประกาศภาพถ่ายโจทก์โดยมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับ แปลเป็นภาษาไทยว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลย 15,910 บาท ยังเรียกเก็บไม่ได้หรือยังไม่ได้ชำระ โดยจำเลยปิดประกาศดังกล่าวในสถานบริการของจำเลยซึ่งมีลูกค้าเข้าไปรับบริการเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้าย เป็นการใส่ความโจทก์อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้ว่าเรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริงก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สรุป
การปิดประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทนั้น เป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะมีการปลดป้ายประกาศออกไป ซึ่งถือได้ว่าการกระทำอันเป็นมูลแห่งความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ยุติลง อายุความย่อมจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการปลดป้ายประกาศออก ดังนั้นแม้จำเลยติดป้ายประกาศหมิ่นประมาทโจทก์ก่อนวันที่โจทก์ไปร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเกิน 3 เดือนแต่เมื่อโจทก์ร้องทุกข์และฟ้องคดีไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันปลดป้ายประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทออกคดีจึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยปิดประกาศภาพถ่ายโจทก์โดยมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับแปลเป็นภาษาไทยว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลย 15,910 บาท ยังเรียกเก็บไม่ได้หรือยังไม่ได้ชำระ โดยจำเลยปิดประกาศดังกล่าวในสถานบริการของจำเลยซึ่งมีลูกค้าเข้าไปรับบริการ เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้าย เป็นการใส่ความโจทก์อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนแม้ว่าเรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริงก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท