อุทธรณ์ที่ว่ารถชนกันเป็นเพราะความประมาทอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929-930/2525
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณารวมกัน โดยเรียกบริษัท ร.ส.พ. ประกันภัย จำกัด เป็นโจทก์ที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิชัยพาณิชย์เป็นโจทก์ที่ ๒ นายเฟื่องฟ้า เป็นโจทก์ที่ ๓ เรียกกองทัพบกเป็นจำเลยที่ ๑ สิบเอกมะเกลือ เป็นจำเลยที่ ๒
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.จ. ๐๖๑๒๓ โจทก์ที่ ๓ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลข น.ฐ.๑๘๐๓๕ โจทก์ที่ ๑ รับประกันรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.จ.๐๖๑๒๓ และคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. ๑๘๐๓๕ประกันภัยแบบชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิง ยกเว้นค่าเสื่อมสภาพเนื่องจากการชน และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม กับมีเงื่อนไขว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ ๕๐๐ บาท แรกทุกครั้งที่เกิดชน จำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างจำเลยที่ ๒ และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถตรากงจักรคันหมายเลข ๔๑๒๖๗ จำเลยที่ ๒ ได้ขับรถของจำเลยที่ ๑บรรทุกรถแทรกเตอร์จากจังหวัดนครปฐมโฉมหน้าไปทางจังหวัดราชบุรีโดยขับด้วยความประมาทกล่าวคือ ขับเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและขับล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเป็นเหตุให้ใบมีดของรถแทรกเตอร์ชนถูกรถของโจทก์ที่ ๒แล้วรถตรากงจักรเสียหลักแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนพุ่งเข้าชนรถโจทก์ที่ ๓ ทำให้รถโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าจำเลยที่ ๒ ขับรถตรากงจักรของจำเลยที่ ๑ไปด้วยอัตราความเร็ว ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยขับชิดขอบทางด้านซ้ายเปิดโคมไฟหน้าด้วยแสงไฟต่ำและด้านข้างมีไฟส่องสว่างอีก ๒ ดวง รถของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓แล่นสวนมาด้วยความเร็วสูง ในลักษณะคันหลังพยายามจะแซงคันหน้าแต่คันหน้าไม่ยอมให้แซง โดยเร่งความเร็วและแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเป็นการประมาท ทำให้เกิดเฉี่ยวชนกับรถของจำเลย ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทของฝ่ายโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุที่รถชนกันเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ กับจำเลยที่ ๒ พิพาษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามส่วนของแต่ละคน
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และจำเลยที่ ๒ ข้อที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของคนขับรถโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ฝ่ายเดียวนั้นเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงคดีสำหรับโจทก์ที่ ๑มีทุนทรัพย์แต่ละสำนวนไม่เกินสองหมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัย ถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์โดยชอบ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ เมื่อโจทก์ที่ ๑ ฎีกาในข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยและสมควรแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะโจทก์ที่ ๑ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สรุป
คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ข้อที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของคนขับรถโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีสำหรับโจทก์ที่ 1 มีทุนทรัพย์แต่ละสำนวนไม่เกินสองหมื่นบาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249