Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เบิกความเท็จว่าเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดอุบัติเหตุ ผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่

เบิกความเท็จว่าเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดอุบัติเหตุ ผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่

1375

เบิกความเท็จว่าเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดอุบัติเหตุ ผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2526

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมาย โดยจำเลยที่ ๑ที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่เห็นเหตุการณ์ที่รถยนต์ชนกัน แต่ได้อ้างต่อจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนว่าเห็นเหตุการณ์ขณะรถยนต์ชนกันโดยชี้จุดที่รถยนต์ชนกันให้จำเลยที่ ๓ ดู ซึ่งไม่ตรงกับจุดที่รถยนต์ชนกันจริง และต่อมาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่จำเลยที่ ๓ ว่าก่อนเกิดเหตุตนได้ขับรถตามหลังรถยนต์บรรทุกมา เห็นรถยนต์โดยสารตู้แล่นแซงรถอื่นเข้าไปชนกับรถยนต์บรรทุกในเส้นทางรถของรถยนต์บรรทุก ซึ่งความจริงจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๑๕๗, ๑๗๒, ๑๘๙, ๘๓, ๙๐, ๙๑

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๕

จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การปฏิเสธ

ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่ ๔

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗, ๑๗๒ ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามมาตรา ๑๗๒ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒

จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๑๗๒ ด้วย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองหาได้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุรถชนกันไม่ การที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างและให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยทั้งสองเห็นเหตุการณ์ขณะที่รถชนกัน จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน และการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวอาจทำให้โจทก์ผู้เป็นบิดาของนางทองและนางยี่หุบผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายเนื่องจากเหตุรถชนกันดังกล่าวได้รับความเสียหายได้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๒ อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๓๗ ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีก

พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๒

สรุป

รถยนต์บรรทุกชนรถยนต์โดยสารตู้บนทางหลวง เป็นเหตุให้บุตรโจทก์และผู้อื่นในรถยนต์โดยสารตู้ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นตำรวจทางหลวงได้ขับรถปฏิบัติหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุหลังจากเกิดเหตุแล้ว และมิได้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุรถชนกัน การที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเห็นเหตุการณ์ขณะที่รถชนกัน โดยขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถวิทยุตำรวจทางหลวงตามหลังรถบรรทุกมา และได้เห็นรถโดยสารตู้พุ่งชนรถบรรทุกในช่องทางเดินรถของรถบรรทุกจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172

เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 172 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา137ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่วๆ ไปอีก

Facebook Comments