Home บทความคดีแพ่ง ฟ้องถอนคืนการให้ คำพูดต้องเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในคดีอาญาหรือไม่

ฟ้องถอนคืนการให้ คำพูดต้องเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในคดีอาญาหรือไม่

1886

ฟ้องถอนคืนการให้ คำพูดต้องเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในคดีอาญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2535

รายละเอียดที่โจทก์ฟ้อง

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาจำเลย โจทก์ได้ยกที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 9 ไร่ ให้แก่จำเลยโดยเสน่หา ต่อมาจำเลยได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินดังกล่าว จำเลยได้ประพฤติเนรคุณ ต่อโจทก์โดยจำเลยขับไล่โจทก์ไม่ให้อยู่ในที่ดินดังกล่าว และด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงว่า “ไอ้แก่ กูไม่นับมึงเป็นพ่อ ออกไปให้พ้นไม่ไปมึงตายกูไม่รับรู้” และจำเลยบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของอันจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยยังสามารถให้ได้ ขอให้ถอนคืนการให้ และบังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 3146 และส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ในสภาพที่ปลอดจากสิทธิและภาระติดพันอย่างใด ๆ และห้ามจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยจดทะเบียนสิทธิที่ดินคืนแก่โจทก์ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย

ข้อต่อสู้ของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอันเป็นการหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นโจทก์และไม่เคยปฏิเสธให้สิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ไม่แสดงชัดแจ้งว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อใด หรือจำเลยปฏิเสธไม่ให้สิ่งของจำเลยเป็นในการเลี้ยงชีพแก่โจทก์เมื่อใดจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะมิได้ฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่โจทก์ทราบถึงการที่จำเลยประพฤติเนรคุณเมื่อเดือนมีนาคม 2528 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนคืนการให้ที่พิพาท ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 3146 และส่งมอบที่ดินคืนให้โจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยจดทะเบียนสิทธิที่พิพาทคืนให้โจทก์ ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา

จุดที่ศาลฎีกาใช้วิเคราะห์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประเด็นเดียวว่าถ้อยคำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยด่าโจทก์ตามฟ้องเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า ข้อความตามฟ้องที่จำเลยกล่าวนั้น เป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพหยาบคาย ไม่ควรกล่าวต่อโจทก์ผู้เป็นบิดา แต่ไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531(2) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หมิ่นประมาทตามบทกฎหมายดังกล่าวหาจำเป็นต้องถึงกับเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่เพียงแต่ได้ความว่าเจตนาดูหมิ่นก็ถือว่าประพฤติเนรคุณแล้ว การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยด่าว่าโจทก์ผู้เป็นบิดาด้วยถ้อยคำตามฟ้องนั้น เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นบิดา เรียกโจทก์ว่าไอ้แก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ว่าไม่นับถือโจทก์เป็นบิดาขับไล่โจทก์ออกไปให้พ้น มิฉะนั้นโจทก์ตายจำเลยไม่รับรู้ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ตกอยู่ในฐานะผู้ยากไร้โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์นั้นเป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็น สำหรับประเด็นเรื่องอายุความศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นการไม่ชอบศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัย จำเลยไม่ฎีกาประเด็นข้อนี้จึงยุติ และประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมกับประเด็นเรื่องโจทก์ได้ยกที่พิพาทให้จำเลยหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1มิได้วินิจฉัย และจำเลยไม่ฎีกาประเด็นดังกล่าวจึงยุติเช่นกันคงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณา พิพากษาคดีใหม่เฉพาะประเด็นดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142ประกอบมาตรา 243(1) และมาตรา 247”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดี

สรุป

หมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)หาจำเป็นต้องถึงกับเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่เพียงแต่ได้ความว่า เจตนาดูหมิ่นก็ถือว่าประพฤติเนรคุณแล้ว จำเลยซึ่งได้รับการให้ที่ดินจากโจทก์ผู้เป็นบิดาด่าว่าโจทก์ว่า “ไอ้แก่กูไม่นับมึงเป็นพ่อ ออกไปให้พ้น ไม่ไปมึงตายกูไม่รับรู้” เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์เรียกโจทก์ว่าไอ้แก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ว่าไม่นับถือโจทก์เป็นบิดา ขับไล่โจทก์ออกไปให้พ้น มิฉะนั้นโจทก์ตายจำเลยไม่รับรู้ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

ถอนคืนการให้
ฟ้อง ถอนคืนการให้
ถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณ ตัวอย่าง
ถอนคืนการให้ กรมที่ดิน
ถอนคืนการให้ ฎีกา
ถอนคืนการให้ เนรคุณ

Facebook Comments