Home บทความคดีแพ่ง ข้อความในคดีหมิ่นประมาทที่แสดงเจตนาในการใส่ความศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ข้อความในคดีหมิ่นประมาทที่แสดงเจตนาในการใส่ความศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

1666

ข้อความในคดีหมิ่นประมาทที่แสดงเจตนาในการใส่ความศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2542

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นนางสาวไทยและนางงามจักรวาล ประจำปี 2531 จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันข่าวสดแก่ประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 26 ถึง 27 มิถุนายน 2538 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันพิมพ์และโฆษณาข้อความหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามลงในหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2538 คอลัมน์ บันเทิงว่า “จิกจักรวาล หึ่งปุ๋ย โอเค นู้ด 5 ล้าน” มีใจความในเนื้อข่าวว่า “กระแสคลั่งนู้ดโหม หนัก ไม่เว้นกระทั่งนางงามจักรวาล “ปุ๋ย” ภรณ์ ทิพย์ปุ๋ยยกตำแหน่งหรูการันตีขูดค่าแก้ผ้า 5 ล้าน ทางนิตยสาร “มิส” นู้ดอัลบัม ได้ส่งตัวแทนไปทาบทาม “ปุ๋ย” ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางสาวไทยและนางงามจักรวาล ปี 2531 เพื่อมาถ่ายอัลบัม ด้วย แต่ปรากฏว่าทางปุ๋ยเรียกค่าตัวเพื่อการนี้สูงถึง 5,000,000 บาท จึงจะยอมถ่าย อย่างตอนนี้มิส ไปติดต่อปุ๋ยใช่ไหม ปุ๋ยโอเค. แต่เงินไม่ถึง ก็คอยดูต่อไปแล้วกัน เดี๋ยวเล่มอื่นก็เอาไปถ่ายจนได้ เงินแค่ 5,000,000 บาทถ้าจะทำกันจริง ๆ ต้องมีคนกล้าเสี่ยงแน่นอน” ทำให้ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์เข้าใจว่าโจทก์สิ้นคิด หมดทางทำมาหากินต้องแก้ผ้าถ่ายรูปหาเงินมาเลี้ยงชีพและทำลายภาพพจน์ที่ดีงามของโจทก์ซึ่งเคยได้รับตำแหน่งนางสาวไทยและนางงามจักรวาลให้ตกต่ำลง ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังเหตุเกิดที่แขวงประชานิเวศน์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครและทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 91 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 48, 49 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันประกาศคำพิพากษาและคำขออภัยต่อโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับที่ออกจำหน่ายในราชอาณาจักรไทยด้วย เนื้อที่ 1 ใน 2 ของหน้าหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่าย

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 48, 49 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ส่วนจำเลยที่ 2 ปรับ 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดพร้อมคำขออภัยต่อโจทก์ด้วยตัวอักษรขนาดปกติที่เคยปฏิบัติในหนังสือพิมพ์รายวันข่าวสดเป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัย “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า การเสนอข่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการติ ชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ซึ่งไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่เห็นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณานั้น จำเลยที่ 1 มิได้อ้างถึงข้อความจริงอันใดเลยในการแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งไม่ได้มีข้อความที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะปกป้องโจทก์ แต่กลับเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์ใส่ความเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริงเกิดเข้าใจผิดดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์อันส่งผลกระทบต่อเกียรติ และสถานะในทางสังคมของโจทก์ หาใช่เป็นการติ ชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ จึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการต่อไปว่า การจะวินิจฉัยว่าข้อความที่ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่นั้น ศาลควรวินิจฉัยโดยอ่านข้อความทั้งหมด มิใช่ยกเอาแต่บางคำบางประโยคมาวินิจฉัย เห็นว่า ในการวินิจฉัยการกระทำของจำเลยที่ 1ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยรับฟังข้อความทั้งหมดอยู่แล้วจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไร ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาที่ไม่ชัดเจนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัยต่อโจทก์ด้วย เป็นการลงโทษจำเลยที่ 1 นอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 บัญญัติว่า ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง (2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้งโดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา จะเห็นได้ว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัยต่อโจทก์ด้วย จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 1 นอกเหนือจากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่สั่งให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัยต่อโจทก์จึงไม่ชอบฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาของศาลทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เกินความจำเป็น เห็นสมควรแก้ไข

มีปัญหาประการสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 จำหน่ายหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับที่มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ถือเป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความโจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดหรือรู้ว่าข้อความที่ตีพิมพ์เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ดังนั้น ลำพังแต่เพียงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบานั้นเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 เดือนและปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาของศาลโดยย่อพอได้ใจความ ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัยต่อโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

ข้อความที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณาว่าโจทก์เรียกเงิน 5 ล้าน ในการถ่ายภาพนู้ด นั้น จำเลยที่ 1 มิได้อ้างถึงข้อความ จริงอันใดเลยในการแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งไม่มีข้อความ ที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะปกป้องโจทก์ แต่กลับ เป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์ใส่ความ เพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริง เข้าใจผิด ดูหมิ่น เกลียดชังโจทก์ อันส่งผลกระทบต่อเกียรติยศและสถานะในทางสังคมของโจทก์หาใช่เป็นการติ ชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ จึงเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการยกเว้นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 การที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 กำหนดให้คดี หมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง (2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์ หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลย เป็นผู้ชำระค่าโฆษณานั้นเป็นการให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณา คำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณา คำขออภัยด้วย ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัยด้วย จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 1 นอกเหนือจากโทษ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ทั้งการที่สั่งให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษา ของศาลทั้งหมดนั้นก็เกินความจำเป็น สมควรให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาของศาลโดยย่อพอได้ใจความ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า บริษัท ข.จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความโจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำ ความผิดหรือรู้ว่าข้อความที่ตีพิมพ์เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ดังนั้น ลำพังแต่เพียงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและ จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่พอรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1

Facebook Comments