Home ทั้งหมด ศาลฎีกาพิจารณาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมในคดีละเมิดไว้อย่างไร

ศาลฎีกาพิจารณาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมในคดีละเมิดไว้อย่างไร

1593

ศาลฎีกาพิจารณาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมในคดีละเมิดไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5401/2562

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้เงิน 171,272.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 165,451.34 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นปาเจโร่ สปอร์ต หมายเลขทะเบียน ฎต 1321 กรุงเทพมหานคร จากนายกาสะลอง ผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ในระหว่างระยะเวลาคุ้มครอง ผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยลื่นไถลไปชนต้นไม้และภูเขาดินเป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตรวจสอบอุบัติเหตุ มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไปทำการตรวจสอบอุบัติเหตุและบันทึกถ้อยคำของผู้เอาประกันภัย ส่วนจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรถยกมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการและเป็นผู้รับจ้างโจทก์ยกรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปจัดซ่อม โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ประสานงาน ระหว่างทำการยกลากรถที่โจทก์รับประกันภัยเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกครั้งหนึ่งเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้ง ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎต 1321 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดอุบัติเหตุชนต้นไม้และภูเขาดินได้รับความเสียหาย โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ตัวแทนโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกตรวจสอบอุบัติเหตุเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยกและเป็นเจ้าของกิจการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ทำการยกรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อเข้าไปจัดซ่อมที่อู่ทันเซอร์วิสในทางการที่จ้างวานมอบหมายหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยทั้งสี่ ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยพลิกคว่ำได้รับความเสียหายเพิ่มเติมอีก โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอรับผิดชอบในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ขอให้โจทก์จัดซ่อมไปก่อน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขอชดใช้ในภายหลัง โจทก์ทำการซ่อมแซมรถยนต์ดังกล่าวแล้ว รวมเป็นเงิน 165,451.34 บาท และรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ โดยแนบสำเนาแบบแจ้งอุบัติเหตุรถยนต์ รายงานอุบัติเหตุรถยนต์และใบรับรองความเสียหายของรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุซึ่งจำเลยที่ 3 จัดทำขึ้น ภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ภาพถ่ายรถยนต์ขณะทำการซ่อมแซม สำเนาใบสั่งอะไหล่และใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมแซม เป็นต้น มาด้วย คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 3 ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันไว้ได้รับความเสียหาย ส่วนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายในส่วนไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังมีเพียงตัวถังบุบครูดเพิ่มเติมเล็กน้อย ไม่มีความเสียหายในระบบเกียร์ ระบบขับเคลื่อนหรือโครงสร้างของรถยนต์แม้แต่น้อย แสดงว่าจำเลยที่ 2 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และสามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เห็นว่า สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 3 นั้น โจทก์มีนายส้ม์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นายแตงโม ผู้ติดต่อเรียกร้องค่าเสียหายให้โจทก์และนายกาสะลอง ผู้เอาประกันภัยเป็นพยานเบิกความได้ความว่า หลังเกิดอุบัติเหตุครั้งแรก นายกาสะลองแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนออกไปตรวจสอบอุบัติเหตุ แล้วจำเลยที่ 3 ติดต่อกับนายกาสะลอง จากนั้นจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการในการยกลากรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปยังอู่ซ่อม ขณะทำการยกลากรถไม่มีการรองล้อหลัง ครั้นลากรถเข้าสู่เส้นทางโค้ง รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจึงเหวี่ยงไปมาจนตัวรถด้านซ้ายและด้านขวากระแทกราวถนนข้างทางเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยจำเลยที่ 3 ไม่นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการยกลากรถประมาทเลินเล่อมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นผู้ยกลากรถจะพึงกระทำเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ที่ถูกลากอันเป็นการละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยในความเสียหายอันเป็นผลจากการกระทำละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ทางนำสืบโจทก์ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 เป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบกิจการยกลากรถและจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบการยกลากรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปยังอู่ซ่อม โดยจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างเช่นกัน ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 3 ทำการยกลากรถยนต์ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 3 ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 3 กระทำไปในทางการที่ได้รับมอบหมายนั้น ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 แต่สำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ให้บริการตรวจสอบอุบัติเหตุ ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นตัวแทนทำการตรวจสอบอุบัติเหตุเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่หรือเกี่ยวข้องกับการยกลากรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปยังอู่ซ่อม แม้จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 ก็ตาม แต่ดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ในการยกลากรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปยังอู่ซ่อม ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะผู้แทนนิติบุคคลจำเลยที่ 4 หรือกระทำเพื่อผลประโยชน์ใดของจำเลยที่ 4 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า นายกาสะลอง ผู้เอาประกันภัยเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุลื่นไถลชนต้นไม้และภูเขาดินครั้งแรก บริเวณกระจังด้านหน้า กันชน แก้มขวารถตรงบังโคลน และกระจกมองข้างด้านขวา สอดคล้องกับสำเนาใบรับรองความเสียหายทรัพย์สิน ส่วนภายหลังเกิดอุบัติเหตุครั้งที่สองขณะจำเลยที่ 3 ทำการยกลากรถ รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นคือ ข้างรถด้านซ้ายและด้านขวา ยางรถยนต์ด้านหน้าขวาแตก เกียร์ใช้ไม่ได้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เหตุละเมิดตามฟ้องทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายส่วนข้างรถด้านซ้ายและด้านขวา ยางรถยนต์ด้านหน้าขวา และเกียร์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดประกอบด้วยแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินไปครั้งสุดท้ายเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

สรุป

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎต 1321 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดอุบัติเหตุชนต้นไม้และภูเขาดินได้รับความเสียหาย โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ตัวแทนโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกตรวจสอบอุบัติเหตุเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยกและเป็นเจ้าของกิจการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ทำการยกรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อเข้าไปจัดซ่อมที่อู่ทันเซอร์วิสในทางการที่จ้างวานมอบหมายหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยทั้งสี่ ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยพลิกคว่ำได้รับความเสียหายเพิ่มเติมอีก โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอรับผิดชอบในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ขอให้โจทก์จัดซ่อมไปก่อน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขอชดใช้ในภายหลัง โจทก์ทำการซ่อมแซมรถยนต์ดังกล่าวแล้ว รวมเป็นเงิน 165,451.34 บาท และรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ โดยแนบสำเนาแบบแจ้งอุบัติเหตุรถยนต์ รายงานอุบัติเหตุรถยนต์และใบรับรองความเสียหายของรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุซึ่งจำเลยที่ 3 จัดทำขึ้น ภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ภาพถ่ายรถยนต์ขณะทำการซ่อมแซม สำเนาใบสั่งอะไหล่และใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมแซม เป็นต้น คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 3 ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันไว้ได้รับความเสียหาย ส่วนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายในส่วนไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังมีเพียงตัวถังบุบครูดเพิ่มเติมเล็กน้อย ไม่มีความเสียหายในระบบเกียร์ ระบบขับเคลื่อนหรือโครงสร้างของรถยนต์แม้แต่น้อย แสดงว่าจำเลยที่ 2 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และสามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

Facebook Comments