Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ คู่สัญญาประกันภัยต่างสัญชาติ ใช้กฎหมายประเทศใดใช้บังคับ

คู่สัญญาประกันภัยต่างสัญชาติ ใช้กฎหมายประเทศใดใช้บังคับ

1387

คู่สัญญาประกันภัยต่างสัญชาติ ใช้กฎหมายประเทศใดใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2553

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลของประเทศอังกฤษได้มอบหมายให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศไทยเป็นตัวแทนติดต่อจำเลยที่ประเทศไทยเพื่อทำประกันภัยอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทอดโทรทัศน์ของโจทก์ ซึ่งบริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ได้เช่าอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์เพื่อนำมาใช้สำหรับการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ได้ส่งรายละเอียดอุปกรณ์ที่ขอเอาประกันภัยไปยังจำเลย จำเลยพิจารณาแล้วตกลงรับทำประกันภัยอุปกรณ์ดังกล่าวโดยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกประเภท (All Risks Insurance) จากประเทศอังกฤษและ/หรือประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย และจากประเทศไทยกลับไปยังประเทศอังกฤษ และ/หรือประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 โดยมีทุนประกันภัยจำนวน 3,586,190 ปอนด์สเตอร์ริงและระบุให้โจทก์และหรือบริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยและเป็นผู้รับผลประโยชน์ และได้มีการเพิ่มวงเงินประกันภัยเป็น 4,084,890 ปอนด์สเตอร์ริง ต่อมาประมาณปลายเดือนธันวาคม 2541 บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ได้ส่งอุปกรณ์ที่เอาประกันภัยทั้งหมดกลับคืนไปยังประเทศอังกฤษด้วยวิธีการขนส่งสินค้าทางอากาศ แต่ปรากฏว่าเมื่อขนส่งไปถึงปลายทางประเทศอังกฤษ อุปกรณ์ประเภทเลนส์ยี่ห้อแคนนอน จำนวน 3 ชิ้น มูลค่าชิ้นละ 16,500 ปอนด์สเตอร์ริง ได้สูญหายไป คิดเป็นมูลค่าจำนวน 49,500 ปอนด์สเตอร์ริง โจทก์ได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมายังจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 49,500 ปอนด์สเตอร์ริง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำนวณดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องได้จำนวน 22,275 ปอนด์สเตอร์ริง รวมเป็นเงินจำนวน 71,775 ปอนด์สเตอร์ริง โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาในคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 71,775 ปอนด์สเตอร์ริง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 49,500 ปอนด์สเตอร์ริง นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ข้อต่อสู้ของจำเลย

จำเลยให้การว่า ทรัพย์สินที่สูญหายไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งนี้เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยที่พิพาทเป็นสัญญาประกันภัยวินาศภัยทรัพย์สินทั่วไป อันจำเป็นต้องระบุรายละเอียดของวัตถุที่เอาประกันภัยให้ชัดแจ้ง แต่ปรากฏว่ากรมธรรม์ประกันภัยและเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ปรากฏว่ามีรายการทรัพย์สินที่สูญหายระบุเป็นวัตถุที่บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ติดต่อขอเอาประกันภัยไว้แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าทรัพย์สินที่สูญหายไปนั้นเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย นอกจากนี้สัญญาประกันภัยในข้อ ซี 3 ระบุว่า “กรมธรรม์ประกันภัยนี้จะไม่คุ้มครองความสูญหายหรือเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในกรณีที่มีสาเหตุเนื่องมาจากการไม่ปรากฏร่องรอย ไม่สามารถอธิบายได้หรือความสูญหายที่ไม่ปรากฏข้อมูล ความสูญหายอันเนื่องมาจากการใส่ การวาง การส่ง หรือการตรวจนับสินค้าผิดพลาด” คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างเพียงลอย ๆ และไม่สามารถแสดงหลักฐานแห่งร่องรอยเบื้องต้นได้ จำเลยจึงมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน สัญญาประกันภัยพิพาทไม่มีข้อตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษมาบังคับแก่สัญญา สัญญาไม่ได้ทำขึ้นที่ประเทศอังกฤษ โจทก์จึงไม่อาจอ้างกฎหมายอังกฤษมาบังคับใช้กับสัญญาประกันภัยพิพาทได้ โจทก์ไม่อาจยกอายุความของกฎหมายอังกฤษมาใช้บังคับคดีนี้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะไม่ได้ฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่อ้างว่าทรัพย์สินสูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 หากจำเลยจะต้องรับผิดก็จะรับผิดไม่เกิน 2,974,950 บาท โดยต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ทรัพย์สินสูญหายอันเป็นไปตามเงื่อนไขตามสัญญาประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นตัดสินว่า

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

จุดที่ศาลฎีกาใช้วิเคราะห์

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ” พิเคราะห์แล้ว

ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศอังกฤษและมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2541 โจทก์ได้มอบหมายให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้เช่าอุปกรณ์ของโจทก์ประเภทอุปกรณ์เพื่อใช้ในการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ให้ติดต่อกับจำเลยที่ประเทศไทยเพื่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยตกลงรับประกันภัยอุปกรณ์ดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 เป็นการคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกประเภท (All Risks Insurance) ช่วงระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 เมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคม 2541 อุปกรณ์ทั้งหมดถูกส่งกลับไปยังประเทศอังกฤษ แต่อุปกรณ์บางส่วนได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งจากประเทศไทยไปยังประเทศอังกฤษ โจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยปฏิเสธความรับผิด

สัญญาประกันภัยฉบับพิพาทเกิดเป็นสัญญาขึ้นที่ประเทศใด

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า สัญญาประกันภัยฉบับพิพาทเกิดเป็นสัญญาขึ้นที่ประเทศใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยโจทก์และจำเลยอยู่ห่างกันโดยระยะทาง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่อยู่ในประเทศไทยบอกกล่าวสนองไปถึงโจทก์ที่อยู่ในประเทศอังกฤษ สัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเกิดเป็นสัญญาขึ้นที่ประเทศอังกฤษตามมาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 กรณีจึงต้องนำกฎหมายเกี่ยวกับอายุความของประเทศอังกฤษมาใช้บังคับกับคดีนี้ ซึ่งมีกำหนดอายุความของการเรียกร้อง 6 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น พิเคราะห์แล้ว มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 บัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับ ก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

ถ้าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ถิ่นที่ถือว่าสัญญานั้นได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นคือถิ่นที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ ถ้าไม่อาจหยั่งทราบถิ่นที่ว่านั้นได้ ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น…”

จุดที่ศาลฎีกาตัดสินว่าเจตนาของคู่สัญญา

คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่สัญญามิได้แสดงเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สัญญาโดยชัดแจ้ง โจทก์มีนายมะม่วงเป็นตัวแทนในการติดต่อทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยในประเทศไทย เมื่อจำเลยส่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 อันเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยให้แก่นายมะม่วง กรณีต้องถือว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยทำหรือเกิดขึ้นในประเทศ จึงต้องใช้กฎหมายไทยมาบังคับกับผลของสัญญาประกันภัยดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 882 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย เมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยสูญหายไปในเดือนธันวาคม 2541 นับถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 ธันวาคม 2547) เป็นเวลาเกิน 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่านายมะม่วงเป็นตัวแทนของโจทก์ นายมะม่วงเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ติดต่อและประสานงานให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น เป็นทำนองว่าการแสดงเจตนาสนองรับของจำเลยที่มีไปถึงนายมะม่วงย่อมไม่มีผลตามกฎหมาย โดยต้องถือว่าสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อจำเลยบอกกล่าวสนองไปถึงโจทก์ที่ประเทศอังกฤษ จึงต้องนำกฎหมายของประเทศอังกฤษมาใช้บังคับตามมาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ในประเด็นข้อนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนายมะม่วง เป็นผู้จัดการเป็นผู้เช่าอุปกรณ์เพื่อใช้ในการถ่ายทอดโทรทัศน์การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย โดยโจทก์จะจัดส่งอุปกรณ์ดังกล่าวมายังประเทศไทยทางอากาศ หลังจากใช้งานเสร็จก็จะมีการส่งกลับโดยทางอากาศเช่นกัน โจทก์จึงได้ติดต่อจำเลยซึ่งอยู่ในประเทศไทยและเป็นสาขาของบริษัทโรยัลแอนด์ซันอัลลายแอนซ์ประกันภัย ในประเทศอังกฤษ เพื่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยตกลงรับประกันภัยอุปกรณ์ของโจทก์ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกประเภทตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 ในเรื่องการติดต่อกันระหว่างโจทก์กับจำเลยในการทำสัญญาประกันภัยรายนี้ ได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นและคำเบิกความของนายกล้วยไม้กรรมการโจทก์ซึ่งเป็นพยานโจทก์ว่า โจทก์มอบหมายให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ช่วยติดต่อจำเลยในประเทศไทยเพื่อทำคำเสนอรายละเอียดของอุปกรณ์ของโจทก์เพื่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์ดังกล่าว ระหว่างนั้นพยานเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อมาติดต่องานและติดต่อจำเลยและเคยหารือกับตัวแทนจำเลยเกี่ยวกับการประกันภัยอุปกรณ์ดังกล่าว หลังจากพยานเดินทางกลับไปประเทศอังกฤษแล้ว จึงได้รับแจ้งผลว่าจำเลยยอมรับประกันภัยอุปกรณ์ของโจทก์ และได้ความจากพยานปากนี้และจากกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 ว่า บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย พยานเป็นผู้ส่งข้อมูลอุปกรณ์ให้นายมะม่วงเพื่อส่งต่อให้จำเลย ขณะที่มีการตกลงรับประกันภัยอุปกรณ์พยานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากมีการตกลงทำสัญญาประกันภัยแล้วนายมะม่วงส่งต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 ไปให้พยานที่ประเทศอังกฤษ และได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นกับคำเบิกความของนายมะม่วงพยานโจทก์ว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2541 โจทก์ได้มอบหมายให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีพยานเป็นผู้จัดการเป็นตัวแทนในการติดต่อจำเลยในประเทศเพื่อขอประกันภัยอุปกรณ์เพื่อใช้ในการถ่ายทอดโทรทัศน์ พยานได้ดำเนินการตามที่โจทก์ร้องขอ ต่อมาประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2541 นายกล้วยไม้กรรมการโจทก์เดินทางมาประเทศไทย พยานเป็นผู้ติดต่อและประสานงานให้กับโจทก์และจำเลย หลังจากนั้นจำเลยตกลงรับประกันภัยอุปกรณ์ของโจทก์เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยอุปกรณ์นั้น โดยระบุให้โจทก์และ/หรือบริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ ต่อมามีการเพิ่มวงเงินประกันภัยอีก โดยระบุให้บริษัททั้งสองเป็นผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์เช่นเดิม ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 และได้ความจากพยานปากนี้ว่าจำเลยในประเทศไทยได้ส่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 ให้พยานที่บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ส่วนการชำระเบี้ยประกันภัยมีการชำระเป็นเงินบาท โดยบริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ชำระแก่จำเลยตามเอกสารหมาย ล. 12 นอกจากนี้ได้ความจากนางสาวกาหลง์ พยานจำเลยว่า พยานทำงานในบริษัทจำเลยตำแหน่งเจ้าหน้าที่รับประกันภัยมาประมาณ 12 ปี เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2541 จำเลยได้รับการติดต่อจากนายมะม่วงเจ้าหน้าที่ของบริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ว่าบริษัทดังกล่าวประสงค์จะขอทำสัญญาประกันภัยอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการถ่ายทอดโทรทัศน์ นางสาวกาหลงจึงเสนอเรื่องไปตามลำดับชั้น ต่อมาจำเลยขอให้นายมะม่วงแจ้งรายละเอียดอุปกรณ์ที่จะเอาประกันภัยเพื่อออกกรมธรรม์ประกันภัย นายมะม่วงได้ส่งรายละเอียดของอุปกรณ์มาให้จำเลยปรากฏตามเอกสารหมาย ล. 3 หลังจากนั้นจำเลยตกลงที่จะรับประกันภัยและได้แจ้งผลไปยังนายมะม่วงซึ่งเป็นผู้ติดต่อขอเอาประกันภัย โดยได้ส่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 ไปให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นการสิ้นสุดหน้าที่ของฝ่ายจำเลย เห็นว่า บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนายมะม่วงเป็นผู้จัดการเป็นผู้เช่าอุปกรณ์เพื่อใช้ในการถ่ายทอดโทรทัศน์จากโจทก์ โจทก์ประสงค์จะให้มีการประกันภัยอุปกรณ์ดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ติดต่อกับจำเลยในประเทศไทยเพื่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่านายมะม่วงผู้จัดการของบริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ไปติดต่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์กับจำเลยตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อจำเลยขอรายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์นายมะม่วงก็ติดต่อกับโจทก์แล้วนายมะม่วงเป็นผู้ส่งรายละเอียดของอุปกรณ์ให้จำเลย ส่วนนายกล้วยไม้กรรมการโจทก์นั้นได้ความเพียงว่าเป็นผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและติดต่อจำเลยเพื่อรับฟังผลการพิจารณาการขอเอาประกันภัยของโจทก์ โดยตัวแทนของจำเลยไปพบนายกล้วยไม้ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และหารือเกี่ยวกับการประกันภัยอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว ตัวแทนจำเลยแจ้งว่าจะแจ้งผลการพิจารณาไปให้โจทก์ทราบโดยเร็ว เช่นนี้ การติดต่อระหว่างนายกล้วยไม้กับตัวแทนจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนายมะม่วงได้ติดต่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์แล้ว นายกล้วยไม้น่าจะติดต่อจำเลยเพื่อเร่งรัดให้มีการทำสัญญาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วก่อนมีการขนส่งอุปกรณ์มายังประเทศไทยเท่านั้น หลังจากมีการตกลงทำสัญญาประกันภัยแล้ว จำเลยก็ส่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 ไปให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ก่อนที่จะมีการส่งไปให้โจทก์ภายหลัง และยังได้ความว่ามีการเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยจากบริษัทนี้ด้วย นอกจากนั้นบริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ก็มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยอุปกรณ์รวมกับโจทก์ พยานหลักฐานในคดีนี้ดังกล่าวมาแล้วประกอบกับคำบรรยายฟ้องของโจทก์เองก็ระบุว่าโจทก์มอบหมายให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเป็นตัวแทนติดต่อกับจำเลยที่ประเทศไทยเพื่อขอทำประกันภัยอุปกรณ์ของโจทก์กับจำเลย เชื่อได้ว่าโจทก์ได้มอบหมายให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด เป็นตัวแทนของโจทก์ในการติดต่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์กับจำเลยในระหว่างที่อุปกรณ์มาอยู่ในประเทศไทย มิฉะนั้นโจทก์คงไม่ให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยอุปกรณ์ของโจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด เป็นตัวแทนของโจทก์ในการติดต่อขอเอาประกันภัยอุปกรณ์กับจำเลย และต่อมาจำเลยตกลงรับประกันภัยอุปกรณ์นั้น พร้อมกับมีการส่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 ไปให้บริษัท ที พี แอนด์ โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย กรณีจึงถือว่าสัญญาประกันภัยดังกล่าวทำหรือเกิดขึ้นในประเทศไทย และต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยนี้ตามมาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยดังกล่าวแล้วพิพากษายกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์เป็นนิติบุคคลของประเทศอังกฤษมอบหมายให้บริษัท ท. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศไทยเป็นตัวแทนติดต่อจำเลยที่ประเทศไทยเพื่อประกันภัยอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทอดโทรทัศน์ของโจทก์ เมื่อคู่สัญญามิได้แสดงเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สัญญาโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์มี ภ. ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัท ท. เป็นตัวแทนในการติดต่อทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยในประเทศไทยการที่จำเลยตกลงรับประกันภัยและส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บริษัท ท. ต้องถือว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยทำหรือเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงต้องนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับกับผลของสัญญาประกันภัยดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคสอง สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments