Home ทั้งหมด ยืมเงินกันแต่ไม่มีสัญญาเงินกู้ ออกเช็คชำระหนี้เช็คเด้งผิดอาญาหรือไม่

ยืมเงินกันแต่ไม่มีสัญญาเงินกู้ ออกเช็คชำระหนี้เช็คเด้งผิดอาญาหรือไม่

2215

ยืมเงินกันแต่ไม่มีสัญญาเงินกู้ ออกเช็คชำระหนี้เช็คเด้งผิดอาญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1519/2535

คดีนี้ในศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่า

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คธนาคารกสิกรไทย สำนักพหลโยธิน จำนวน 4 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 2 กันยายน 2531 จำนวนเงิน 4,760,000 บาท ฉบับที่สามลงวันที่ 5 กันยายน 2531 จำนวนเงิน 1,337,543 บาท และฉบับที่สี่ ลงวันที่ 8 กันยายน 2531 จำนวนเงิน 3,360,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คทั้งสี่ฉบับและนำมามอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้โจทก์นำเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อให้เรียกเก็บเงินแทน แต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสี่ฉบับ ฉบับแรกวันที่ 31สิงหาคม 2531 โดยให้เหตุผลว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” ฉบับที่สองวันที่ 2 กันยายน 2531 โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายและโปรดให้ผู้สั่งจ่ายลงนามเต็มกำกับการแก้ไข” ฉบับที่สามวันที่ 5 กันยายน 2531 และฉบับที่สี่วันที่ 8 กันยายน 2531โดยให้เหตุผลเดียวกันว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นตัดสิน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ใครยื่นอุทธรณ์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมไป โดยปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ20,000 บาท รวม 4 กระทง ปรับ 80,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2กระทงละ 1 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 4 ปี จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาตัดสินว่า

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาในชั้นฎีกาว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คทั้งสี่ฉบับตามฟ้องโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า

ในข้อนี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นการออกเช็คเพื่อให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันในการที่โจทก์และจำเลยได้ร่วมงานทำการก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่น (ตอนที่ 2) เพื่อแบ่งปันผลกำไรกัน เมื่อโจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานไปเป็นจำนวนใดแล้ว จำเลยก็ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ได้พิจารณาการออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับแล้ว ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คตามสำเนาเอกสารหมายจ.18, จ.19 และ จ.20 สั่งจ่ายเงินจำนวน 4,760,000 บาท,3,360,000 บาท และ 1,337,543 บาท ลงวันสั่งจ่ายวันที่ 31 มีนาคม2529, 27 เมษายน 2528 และ 31 ตุลาคม 2528 ตามลำดับ เห็นได้ว่าจำนวนเงินในเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเงินตรงกับจำนวนเงินที่จำเลยสั่งจ่ายในเช็คพิพาทเอกสาร หมาย จ.12, จ.16 และ จ.14 ตามลำดับแสดงว่ามีการเปลี่ยนเช็คเดิมตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.18, จ.19 และจ.20 มาเป็นเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.12, จ.16 และ จ.14 สำหรับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.10 นั้น โจทก์เบิกความสรุปได้ว่าเป็นเช็คฉบับหนึ่งที่ได้นำเช็คเดิมมาเปลี่ยน และโจทก์ได้ถ่ายเป็นสำเนาเช็คไว้ทั้งสี่ฉบับ แต่เช็คเดิมของเช็คเอกสารหมาย จ.10 หายไป ดังนั้นแสดงว่าการออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับนี้จะต้องมีมูลหนี้เดิมตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.18, จ.19, จ.20 และเช็คที่หายไปอีกหนึ่งฉบับโจทก์เบิกความยืนยันว่า เช็คพิพาททุกฉบับเป็นเช็คที่ออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ในการยืมเงิน และได้รับเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2529 ชี้ให้เห็นว่าการออกเช็คเดิมจะต้องมีกรณีที่โจทก์จำเลยเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างน้อยก็ในปี 2529 หรือย้อนหลังขึ้นไปดังจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาระหว่างวันที่ลงในเช็คเดิมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.20 กับวันที่ลงในเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ถึง 3 ปีแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนเช็คเดิม เป็นเช็คพิพาทจะต้องเป็นการออกเช็คที่สั่งจ่ายเงินลงวันที่ล่วงหน้าไว้เป็นเวลานาน หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีการเปลี่ยนเช็คอีกชุดหนึ่งในระหว่างระยะเวลานี้จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เช็คฉบับเดิมซึ่งหมายถึงเช็คตามสำเนาเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.20 และเช็คอื่นอีกฉบับหนึ่งย่อมเป็นเช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้าไว้นานนับปีเช่นกันจึงเป็นเหตุผลที่ดีและน่ารับฟัง เนื่องจากมีข้อเท็จจริงในลักษณะทำนองเดียวกันในคดีอยู่แล้ว หาใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนดังที่จำเลยฎีกาไม่ รูปคดีจึงเชื่อว่า การออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมีมูลหนี้มาก่อน พ.ศ. 2529 แล้ว

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นการประกันหนี้เนื่องจากโจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าวัสดุในการร่วมงานก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่น (ตอนที่ 2) นั้นข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้รับจ้างทำการก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่น (ตอนที่ 2)จากคลองบางเขนถึงถนนงามวงศ์วาน โดยทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2526 การก่อสร้างโครงการนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์เข้ามาร่วมทุนกับจำเลยที่ 1 เพื่อแบ่งปันผลกำไรเมื่อปี 2528 ส่วนโจทก์เบิกความว่า ได้ตกลงช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยทั้งสองในปลายปี 2528 ในปัญหาข้อที่ว่าโจทก์และจำเลยร่วมงานกันเมื่อใด เพื่อเป็นข้อพิจารณาต่อไปว่าที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คค้ำประกันค่าซื้อวัสดุก่อสร้างนั้นอาจเป็นไปได้นั้น จากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ได้ความว่าเป็นการออกเช็คเพื่อให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นการค้ำประกัน ไม่ใช่การออกเช็คชำระหนี้ ทั้งสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.20จะเป็นมูลหนี้เกี่ยวข้องกับเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับอย่างใดหรือไม่จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังอ้างต่อไปว่าเมื่อโจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างและค่าจ้างแรงงานไปเป็นจำนวนเงินเท่าใด แล้วต่อมาประมาณ 3 วันถึง 7 วัน จำเลยที่ 1 ก็จะออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายไปโดยนางสาวชบา พยานจำเลยเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงที่เป็นพยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวแล้วเป็นการอ้างว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์เป็นการค้ำประกันโดยตรง โดยไม่มีมูลหนี้อื่นมาเกี่ยวข้อง และไม่มีการเปลี่ยนเช็คอื่นมาเป็นเช็คพิพาท แสดงว่าการลงทุนของโจทก์โดยวิธีการออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนนั้นย่อมเกิดขึ้นก่อนวันที่สั่งจ่ายในเช็คเล็กน้อย กล่าวคือควรเป็นช่วงเวลาระหว่างเดือนสิงหาคม 2531 ถึงเดือนกันยายน 2531 ดังนั้น การร่วมทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งหากมีการออกเช็คค้ำประกันจริงก็ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2528ถึงปี 2529 ดังนั้น เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นเช็คที่มีมูลหนี้มาก่อนปี 2529 เช็คพิพาทจึงไม่ใช่เช็คที่ออกให้โจทก์ไว้เป็นประกันตามข้ออ้างของจำเลย คดีฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้เงินยืมให้แก่โจทก์โดยแลกเช็คฉบับเดิมกลับไป…

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 เสียทั้งสิ้น และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ” ดังนั้นการออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามกฎหมายใหม่ดังกล่าวจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้เงินยืมที่มีอยู่จริงแต่ไม่ปรากฏว่าการยืมเงินของจำเลยทั้งสองตามเช็คพิพาทแต่ละฉบับซึ่งมีจำนวนตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไปมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ยืม หนี้เงินยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเดิมเป็นความผิดจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ต่อไป จำเลยทั้งสองย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

สรุป

ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 3 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 เสียทั้งสิ้น และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติองค์ประกอบความผิดว่า ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ ดังนั้นการออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามกฎหมายใหม่ดังกล่าวจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองออกเช็คทั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้เงินยืมที่มีอยู่จริงแต่การยืมเงินของจำเลยทั้งสองตามเช็คแต่ละฉบับซึ่งมีจำนวนตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไปไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ยืมหนี้เงินยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเดิมเป็นความผิดจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ต่อไป จำเลยทั้งสองย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

Facebook Comments