หย่ากันแล้วยกทรัพย์สินให้เมียทั้งหมด ต่อมาไม่ชำระตามสัญญา ยื่นฟ้องล้มละลายได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7848/2540
คดีนี้ในศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่า
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 376/2536 ของศาลชั้นต้น จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ 2 งวดเป็นเงิน 9,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระให้อีก โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอันจะพึงยึดมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ได้ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 765,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้เกินกว่า 50,000 บาท จึงถือได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยต่อสู้คดีว่า
จำเลยให้การว่า จำเลยมีความสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ เหตุที่ผิดนัดเนื่องจากจำเลยมีเหตุขัดข้องทางการเงินบางประการซึ่งโจทก์ทราบเหตุขัดข้องอยู่ก่อนแล้วแต่โจทก์เบี่ยงบ่ายไม่ยอมรับ โจทก์ฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย ทั้งหนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องเป็นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ที่จำเลยจะให้โจทก์ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีและเป็นหนี้ในอนาคต ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จะนำมาฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นตัดสิน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ใครยื่นอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตัดสินว่า
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า
ศาลฎีกาเห็นว่า
ศาลฎีกาพิเคราะห์เรื่องข้อสันนิษฐานก่อน
“พิเคราะห์แล้ว ได้ความตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยยอมรับว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์จำนวน 765,000 บาทจำเลยยังเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพชรบูรณ์และธนาคารกรุงไทย จำกัด อีก 339,000บาท และจำเลยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483
ศาลฎีกาเห็นว่า
ปัญหาต่อไปมีว่ามีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ที่จำเลยยินยอมจะจ่ายให้โจทก์ตามกฎหมายและหน้าที่ทางศีลธรรมทั้งกำหนดให้มีการชำระกันเป็นงวด ๆ ในจำนวนไม่มากนัก ส่วนหนี้บุคคลอื่นคือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพชรบูรณ์นั้นก็ได้ความว่าจำเลยถูกหักเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเดือนของจำเลยเหลือไม่พอจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ ทั้งคดียังได้ความอีกว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์รับเงินเดือนส่วนที่เหลือได้แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยดี แต่โจทก์กลับไม่ยอมรับทั้งเมื่อคำนึงถึงว่าเมื่อโจทก์จำเลยหย่ากันนั้นมีทรัพย์สินเช่นบ้านและที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสแต่จำเลยก็ยกให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดยจำเลยไม่ต้องการส่วนแบ่งในทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนี้ รูปคดีมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
สรุป
แม้จำเลยจะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยยอมจะจ่ายให้โจทก์ตามกฎหมายและหน้าที่ทางศีลธรรมซึ่งกำหนดให้มีการชำระเป็นงวด ๆ ในจำนวนไม่มากนัก ส่วนหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนั้น จำเลยก็ถูกหักเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเดือนของจำเลยเหลือไม่พอจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ ทั้งยังได้ความอีกว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์รับเงินเดือนส่วนที่เหลือได้ แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยดี แต่โจทก์กลับไม่ยอมรับ เมื่อคำนึงถึงว่าขณะโจทก์จำเลยหย่ากันนั้นมีทรัพย์สินเช่นบ้านและที่ดินเป็นสินสมรสแต่จำเลยก็ยกให้โจทก์ทั้งหมด โดยจำเลยไม่ต้องการส่วนแบ่งในทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด รูปคดีจึงมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14