ไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศ ฟ้องหย่าได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับโจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดกับจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ปี 2530 โจทก์พบจำเลยที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2531 โจทก์จำเลยตกลงจดทะเบียนสมรสตามสำเนาทะเบียนสมรสเอกสารหมาย จ.1 และมีการย้ายไปอยู่อีกหลายรัฐหลังอยู่กินฉันสามีภริยาเนื่องจากโจทก์รับราชการกองทัพอากาศ ปี 2542 โจทก์ย้ายมาอยู่ประเทศไทย ช่วง 6 เดือนแรกหลังจากการสมรส โจทก์จำเลยมีความขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และจำเลยไม่สนใจเรียนรู้และปรับตัวทางด้านภาษาและการแต่งตัวประกอบกับจำเลยมีนิสัยเกียจคร้านชอบแต่ความสบาย ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดทำให้เกิดการโต้เถียงกันเป็นประจำ โจทก์ได้รับการกระทบทางด้านจิตใจโดยจำเลยจะด่าโจทก์เป็นภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทยว่า “ลูกหมาตัวเมีย” และ “เหี้ย” ในด้านความสัมพันธ์ทางเพศโจทก์ต้องการแต่จำเลยไม่ต้องการทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สมัครใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กันเป็นเวลากว่า 2 ปี แล้ว ซึ่งเป็นสภาพที่ทรมานจิตใจโจทก์อย่างมาก หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยขอเดินทางกลับไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเยี่ยมมารดา แต่จำเลยไม่ติดต่อโจทก์และไม่กลับมาหาโจทก์จนถึงปัจจุบัน โจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจียเกี่ยวกับเงื่อนไขการหย่าข้อ 10 ที่ระบุว่าการปฏิบัติที่โหดร้ายประกอบไปด้วยการทำร้ายที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดต่อภายและจิตใจ และข้อ 13 ที่ระบุว่าการสมรสที่แตกร้าวจนเยียวยาไม่ได้ ตามสำเนากฎหมายของรัฐจอร์เจียพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ประสงค์หย่าขาดกับจำเลย
จำเลยไม่สืบพยาน
พิเคราะห์แล้ว เห็นควรวินิจฉัยปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหย่าจำเลยหรือไม่ก่อน พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่ากันได้มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ดังที่จำเลยอ้างตามคำแก้ฎีกา เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกันตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นการยอมให้หย่าได้เมื่อต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวและบทบัญญัติกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุเงื่อนไขการฟ้องหย่าไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีเหตุให้ฟ้องหย่าได้หรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคสอง บัญญัติว่า เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทศไทยบังคับ ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) หรือไม่ โจทก์เบิกความว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 ตามทะเบียนสมรสเอกสารหมาย จ.1 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบาย ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใด ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์แต่โจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเมื่อจำเลยด่าโจทก์ขณะทะเลาะกันโจทก์ก็ด่าจำเลยตอบกลับไปด้วย ทั้งโจทก์เบิกความเองว่าช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก เรืออากาศเอกทอดด์บาว์โลว พยานซึ่งเป็นเพื่อนร่วมที่ทำงานเดียวกับโจทก์ก็เบิกความว่า พยานรู้จักจำเลยดี ไม่เคยเห็นโจทก์จำเลยทะเลาะกันเสียงดังแต่เห็นไม่พูดกันขณะโมโห จำเลยไม่ยอมทำงานบ้านไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน นอกจากนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการร้ายแรงอย่างอื่นอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ โจทก์จึงเพิ่งมาฟ้องคดีนี้ พฤติการณ์ของจำเลยดังที่โจทก์นำสืบดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินสมควร ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีเหตุให้ฟ้องหย่าจำเลยได้ ส่วนข้ออ้างเรื่องจำเลยทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีและจำเลยป่วยเนื่องจากการติดเชื้อในมดลูกไม่อาจมีบุตรได้นั้น โจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องโดยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
สรุป
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุเงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้
สำหรับเหตุหย่า ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทยไทยบังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบายไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดและไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์ซึ่งโจทก์เองก็ด่าจำเลยกลับไปด้วย แต่ไม่เคยทะเลาะกันเสียงดัง เพียงแต่ไม่พูดกันขณะโมโห แม้ในช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ แต่ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้