Home ทั้งหมด ฟ้องหย่าเพราะสมัครใจแยกกันอยู่ ศาลฎีกาใช้หลักใดบ้างในการพิจารณา

ฟ้องหย่าเพราะสมัครใจแยกกันอยู่ ศาลฎีกาใช้หลักใดบ้างในการพิจารณา

1835

ฟ้องหย่าเพราะสมัครใจแยกกันอยู่ ศาลฎีกาใช้หลักใดบ้างในการพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2542

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2509 โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยระหว่างอยู่กินด้วยกัน จำเลยมักหาเรื่องทะเลาะกับโจทก์และประพฤติตนไม่เหมาะสมในฐานะภริยาของโจทก์ซึ่งรับราชการเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ ทำให้โจทก์ถูกตำหนิจากผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นประจำ จนกระทั่งกลางปี 2535 โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันจึงสมัครใจแยกกันอยู่จนถึงปัจจุบัน โจทก์ประสงค์จดทะเบียนหย่าแต่จำเลยไม่ยินยอมขอพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน

จำเลยให้การว่า ระหว่างโจทก์จำเลยอยู่กินร่วมกันจำเลยไม่เคยหาเรื่องทะเลาะกับโจทก์ ไม่เคยประพฤติไม่เหมาะสมอันจะนำความเสื่อมเสียมาสู่โจทก์ ไม่เคยทำให้โจทก์ถูกตำหนิจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชาและไม่เคยสมัครใจแยกกันอยู่ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

จุดที่ศาลฎีกาวินิจฉัย

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้เพียงว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปีอันเป็นเหตุหย่าหรือไม่

คดีได้ความว่า เมื่อปี 2509 โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน โจทก์รับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนจำเลยรับราชการที่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ โจทก์และนางยี่โถ พยานโจทก์ซึ่งเป็นน้องสาวโจทก์เบิกความเป็นสำคัญว่านับแต่ปี 2519 เป็นต้นมา โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข จำเลยไม่สนใจในภาษาอังกฤษทั้ง ๆ ที่โจทก์พยายามส่งเสริมสนับสนุน เป็นเหตุขัดข้องต่อการออกงานสังคมร่วมกันในต่างประเทศ จำเลยชอบแนะนำบุตรสาวให้รู้จักกับผู้ชายที่มีฐานะทางสังคมเป็นที่ยุ่งยากใจแก่โจทก์ทั้งโจทก์เบิกความด้วยว่า ต่อจากนั้นโจทก์จำเลยคงขัดแย้งมีปากเสียงกันมาตลอดถึงกับตกลงจะจดทะเบียนหย่ากัน แต่ในที่สุดจำเลยกลับไม่จดทะเบียนหย่าให้ โจทก์จึงย้ายไปพักอาศัยอยู่กับนางยี่โถน้องสาวโจทก์ เมื่อครั้งที่โจทก์เดินทางไปรับราชการที่สาธารณรัฐโปแลนด์และรัฐคูเวต จำเลยก็มิได้ติดตามไปอยู่ด้วยเพราะสมัครใจแยกกันอยู่ ส่วนจำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่เคยประพฤติให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง แม้โจทก์จำเลยมีปากเสียงกันแต่ก็คงอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาตามปกติมาตลอด ที่โจทก์ไปอยู่กับนางยี่โถน้องสาวโจทก์เป็นเพราะความสมัครใจของโจทก์เองส่วนที่จำเลยไม่ได้ติดตามไปอยู่กับโจทก์ที่สาธารณรัฐโปแลนด์และรัฐคูเวต เพราะโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการขอวีซ่าของจำเลยจำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ทั้งจำเลยเบิกความด้วยว่าโจทก์เคยเสนอเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนสูงถึง 1,500,000 บาทเพื่อให้จำเลยจดทะเบียนหย่า แต่จำเลยไม่ตกลงด้วยเพราะประสงค์จะอยู่กินกับโจทก์ต่อไป

เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่จำเลยไม่ได้อยู่กับโจทก์ฉันสามีภริยาที่ต่างประเทศเนื่องจากโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการทำหนังสืออนุญาตเข้าประเทศ(วีซ่า) แก่จำเลย ต่อมาเมื่อโจทก์กลับมารับราชการภายในประเทศไทยโจทก์เป็นฝ่ายแยกไปอยู่ต่างหากกับน้องสาวของโจทก์เองถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยแต่ฝ่ายเดียว แต่จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) แต่อย่างใดไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

การที่จำเลยไม่ได้อยู่กับโจทก์ฉันสามีภริยาที่ต่างประเทศ เนื่องจากโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการทำหนังสืออนุญาต เข้าประเทศ (วีซ่า) แก่จำเลย ต่อมาเมื่อโจทก์กลับมา รับราชการภายในประเทศไทย โจทก์เป็นฝ่ายแยกไปอยู่ต่างหาก กับน้องสาวของโจทก์เอง ถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ กับจำเลยแต่ฝ่ายเดียว แต่จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่ กับโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข ตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) แต่อย่างใดไม่

Facebook Comments