Home ทั้งหมด ตกลงหย่ากันแล้วทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่

ตกลงหย่ากันแล้วทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่

1440

ตกลงหย่ากันแล้วทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่ มีข้อต่อสู้อย่างไร

เกริ่นนำ

การจะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นตามปกติแล้วต้องแสดงต่อศาลโดยชัดแจ้งว่านิติกรรมที่จำเลยได้กระทำนั้นเป็นทางเสียเปรียบแก่ตนซึ่วงเป็นเจ้าหนี้อย่างไร ในวันนี้ทีมงานทนายกฤษดา จะขออนุญาตนำเคสตัวอย่างซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยตัดสินไว้ มีรายละเอียดดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5207/2545

เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดี

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,394,250 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 759/2541 ของศาลชั้นต้น หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว 8 วัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนหย่ากันและจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าว่า จำเลยที่ 1 ตกลงยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17226 ตำบลทับยาวอำเภอลาดกระบัง (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 194/26 อันเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้เสียเปรียบ ไม่สามารถยึดที่ดินดังกล่าวมาบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาได้ อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17226 ตำบลทับยาว อำเภอลาดกระบัง (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 194/26 ระหว่างจำเลยทั้งสอง ตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าลงวันที่ 31 มีนาคม 2541 โดยให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยให้การต่อสู้ว่า

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีก่อนที่จะเป็นผู้ยื่นคำฟ้อง หาใช่อำนาจของโจทก์ไม่จำเลยที่ 2 ใช้เงินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ในขณะจดทะเบียนสมรสไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 17226 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 หากศาลฟังว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองทำมาหาได้ร่วมกัน (ระหว่างสมรส) หลังจดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยทั้งสองก็ได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินกันโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้เป็นการฉ้อฉลโจทก์ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอน (นิติกรรมตาม) บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า (เรื่อง) การยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17226 ตำบลทับยาว อำเภอลาดกระบัง (เจียระดับ)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 194/26 หมู่ที่ 1 แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2541 คำขออื่นให้ยก

 

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

จำเลยทั้งสองฎีกา

ประเด็นที่ศาลฎีกาวินิจฉัย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เดิมจำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน โดยจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 แต่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541 ตามสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวกรมการปกครอง เอกสารหมาย จ.2 และสำเนาทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 759/2541 ของศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 ในขณะที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันนั้นจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมยกกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 17226 ตำบลทับยาวอำเภอลาดกระบัง (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 194/26 ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสำเนาบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาคัดค้านว่า นิติกรรมตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 ต่อมาต้นปี 2542 โจทก์ขอบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวข้างต้นและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17239 และ 18271 ตำบลทับยาว อำเภอลาดกระบัง (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดแต่ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างมีภารจำนองอยู่กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปขอยึดทรัพย์พิพาทคดีนี้ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดให้ไม่ได้เพราะทรัพย์พิพาทมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว

ประเด็นที่ศาลฎีกาตัดสิน

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เนื่องจากเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องยื่นฟ้องแทนโจทก์เพราะในคดีก่อนได้มีการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ในปัญหาข้อนี้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ยกเป็นข้อต่อสู้มาในคำให้การแต่ต้นรวมทั้งยกขึ้นอุทธรณ์ด้วย แต่ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำวินิจฉัยให้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และเห็นว่าอำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ได้บัญญัติไว้ว่าให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ กฎหมายหาได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังที่จำเลยทั้งสองเข้าใจไม่เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้

ประเด็นที่ศาลฎีกาตัดสินที่สอง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสอง ข้อต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องคดีขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 บัญญัติไว้ว่า “การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น” จึงมีข้อต้องพิจารณาว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการทำนิติกรรมของจำเลยทั้งสองตามสำเนาบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 เมื่อใด โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อต้นปี 2542 โจทก์ได้ให้ทนายความไปตรวจสอบที่สำนักงานเขตลาดกระบัง จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองได้หย่าขาดจากกันและทำบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทตามสำเนาบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 โดยโจทก์ได้นำนายม่วง ทนายความของโจทก์มาเป็นพยานเบิกความรับรองว่าประมาณกลางเดือนมกราคม 2542โจทก์ได้ว่าจ้างพยานให้ไปดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 759/2541 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากทนายความคนเดิมไม่บังคับคดีให้ พยานได้ไปสืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันซื้อมาระหว่างสมรส ต่อมาพยานได้ไปติดต่อขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 ที่สำนักงานเขตลาดกระบังและไปติดต่อที่แผนกทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่าพบว่าจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว โดยจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าระบุเรื่องทรัพย์สินว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมยกกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6ที่พยานขอถ่ายสำเนามาประกอบการบังคับคดี พยานฝ่ายจำเลยในข้อนี้คงมีแต่จำเลยทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2541 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 เกินกว่า1 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่า จึงขาดอายุความ และจำเลยที่ 1 เบิกความอ้างลอย ๆ ว่าในวันที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่า โจทก์และเพื่อนบ้านก็รู้และยังสอบถามว่าไปหย่าทำไม แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ได้รู้ถึงข้อตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าด้วยและเมื่อใด ดังนี้ จะให้ศาลทราบเองว่าโจทก์ได้รู้ถึงนิติกรรมตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่ามาตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่าแล้วหาได้ไม่ ประกอบกับจำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่าโจทก์หรือตัวแทนของโจทก์เพิ่งไปคัดสำเนาบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมายจ.6 มาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งตรงกับวันที่นายทะเบียนรับรองสำเนาตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2542 ซึ่งเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์เพิ่งรู้ถึงนิติกรรมตามสำเนาบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 เมื่อต้นปี 2542ตามที่โจทก์นำสืบ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 จึงยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ประเด็นที่ศาลฎีกาตัดสินที่สาม

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อมาว่า เงินที่ซื้อทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 เมื่อนำไปซื้อทรัพย์พิพาท ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่สินสมรสนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสและขณะจดทะเบียนหย่าจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่ายกทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้ว่าจะทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบจำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ใช้เงินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ซื้อมาระหว่างสมรส แต่จำเลยทั้งสองกลับให้การตอนหลังว่า หากฟังว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างสมรส จำเลยทั้งสองก็ได้ตกลงแบ่งกันโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วโดยจำเลยที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งเป็นทรัพย์พิพาทคดีนี้จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเพราะขัดแย้งกันเอง ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยทั้งสองประสงค์จะต่อสู้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 หรือเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าทรัพย์พิพาทไม่ใช่สินสมรสข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามคำฟ้องว่า เดิมทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

 

ประเด็นที่ศาลฎีกาตัดสินประเด็นสุดท้าย

คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปว่า ที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินในขณะจดทะเบียนหย่าตามสำเนาบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 โดยให้ทรัพย์พิพาทตกเป็นของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยทั้งสองได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 759/2541 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 แล้วต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2541 จำเลยทั้งสองจึงได้ไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าว ความในข้อนี้จำเลยที่ 2 เบิกความต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน แต่จำเลยที่ 2 กลับเบิกความตอบคำถามติงของทนายจำเลยทั้งสองตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากัน เนื่องจากจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีปากเสียงกันในเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องร้องเป็นคดี ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไปกู้เงินจากโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่ทราบภายหลังถูกโจทก์ฟ้อง (เรียกเงินที่กู้ยืม) จำเลยที่ 2 ทราบ จึงมีสาเหตุโกรธเคืองและทะเลาะกัน จึงตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สิน ตามคำเบิกความของจำเลยทั้งสองดังกล่าว จึงฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 นั้น จำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย การที่จำเลยทั้งสองรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวเพียง 8 วัน โดยแบ่งเฉพาะทรัพย์พิพาทซึ่งไม่ติดภารจำนองเพียงรายการเดียวให้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวแต่ทรัพย์สินรายการอื่นซึ่งจำเลยทั้งสองซื้อมาระหว่างสมรส คือที่ดินโฉนดเลขที่ 17/239 และ 18271 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยทั้งสองกลับมิได้กล่าวไว้ในสัญญาแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 เลย นับว่าเป็นข้อพิรุธอย่างยิ่งของจำเลยทั้งสอง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 759/2541 ของศาลชั้นต้น อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้

 

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่า ในคดีก่อนโจทก์ได้นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม2 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แล้ว ส่วนจะเพียงพอชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีก่อนหรือไม่นั้น โจทก์มิได้นำสืบ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่โจทก์ว่า การยึดทรัพย์ดังกล่าวยังไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ การทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจึงทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ตามที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ยกทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองทราบดีว่าทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบเพราะไม่สามารถยึดทรัพย์พิพาทมาชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ได้นำยึดที่ดินแปลงอื่นพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ไว้แล้วและเป็นการเพียงพอแก่การชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อน การทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ดังนี้คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอุทธรณ์ แม้ศาลชั้นต้นจะยกขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เพราะถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้จึงชอบแล้วที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้เพิกถอนนิติกรรมตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.6 จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

 

พิพากษายืน

สรุป

อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้

การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments