แนวทางเจตนาในการตั้งผู้จัดการมรดก ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
ปกติแล้วประโยชน์ในการตั้งผู้จัดการมรดกมีแนวคำพิพากษา ศาลวางหลักหรือแนวคำพิพากษา ศาลฎีกาเอาไว้ ค่อนค้างที่จะไม่ได้เปลี่ยนแนว และมีเจตนาในการตั้งมีหลักการอย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2552
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมมรดกของนายมะดัน ผู้ตายกับให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านทั้งสาม
ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้ร้องร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายมะดัน ผู้ตาย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายมะดัน ผู้ตาย มีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส 3 คน ภรรยาคนแรกคือนางโกสน มีบุตรรวม 4 คน คือผู้คัดค้านทั้งสามกับนายองุ่น ภรรยาคนที่สองไม่ทราบชื่อและเสียชีวิตแล้วโดยมีบุตร 1 คน คือ นายกระดังงา ภรรยาคนที่สามคือนางยี่โถ มีบุตร 2 คน คือนางสาวเทียนหอม และผู้ร้อง ผู้ตายได้ให้การรับรองว่าบุตรทุกคนเป็นบุตรของตนแล้ว เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยในการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องได้แสดงบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย ร.3 และนำสืบว่าผู้ตายมีทายาทอยู่เพียง 2 คน คือนางสาวเทียนหอม และตัวผู้ร้อง ซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากนางยี่โถ ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนของผู้ตาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกโดยเสนอบัญชีเครือญาติ ตามเอกสารหมาย ร.3 ต่อศาลชั้นต้น ผู้ร้องมีเจตนาปิดบังจำนวนทายาทที่แท้จริงหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องทราบดีตั้งแต่ก่อนยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกแล้วว่าผู้คัดค้านทั้งสาม นายองุ่น และนายกระดังงาเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยแต่ผู้ร้องไม่ระบุชื่อบุคคลดังกล่าวลงในบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย ร.3 ผู้ร้องมิได้ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ผู้ร้องทราบว่าผู้คัดค้านทั้งสาม นายองุ่นและนายกระดังงา เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยตั้งแต่ก่อนที่ผู้ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว การที่ผู้ร้องแสดงบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย ร.3 และสำสืบว่าผู้ตายมีทายาทอยู่เพียง 2 คน คือตัวผู้ร้องและนางสาวเทียนหอมพี่สาวของผู้ร้อง เมื่อรับฟังประกอบกับในระหว่างไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสามเมื่อทนายผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 นำบัญชีเครือญาติตามเอกสารหมาย ร.3 ให้ผู้ร้องดู ผู้ร้องก็ยังเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายมีทายาทที่เกิดจากนางยี่โถเพียงเท่าที่ปรากฏตามเอกสารดังกล่าวอยู่อีก ทั้งภายหลังจากที่ผู้ร้องได้รับการตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเคยติดต่อหรือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสามทราบเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้ตายแต่อย่างใด พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวย่อมส่อแสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องมีเจตนาไม่สุจริตแสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อต้องการปิดบังจำนวนทายาทที่แท้จริงของผู้ตายแล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าผู้ร้องไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากการเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดก และไม่ได้รับสินจ้างบำเหน็จจากการเป็นผู้จัดการมรดก ทั้งการที่ทายาทไม่มีชื่อระบุอยู่ในบัญชีเครือญาติก็ไม่ทำให้ทายาทนั้นเสียสิทธิในการรับมรดกแต่อย่างใด และในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายบังคับว่า จะต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องด้วยนั้น คงเป็นเพียงความเห็นของผู้ร้องเอง ซึ่งในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าแม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ตามแต่การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และมาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจ หรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุดและให้สมดังเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์ดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อฟังว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตแสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตาย อันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้แล้ว ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อต่อไปว่า ผู้ร้องได้กระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ละเลยไม่ทำการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทหรือไม่ ในข้อนี้ผู้ร้องเบิกความยอมรับว่า ภายหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องได้รวบรวมทรัพย์สินและจำหน่ายทรัพย์สินไปบางส่วน โดยขายที่ดินว่างเปล่าที่ตั้งอยู่อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขายที่ดินพร้อมบ้านทาวน์เฮาส์ที่เขตสวนหลวงตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.10 อันดับที่ 5 และที่ 6 ไปในราคา 90,000 บาท และ 500,000 บาท ตามลำดับ และได้เบิกเงินในบัญชีของผู้ตายที่ฝากไว้ในธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 และที่ 2 ไปรวมเป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ทั้งได้เบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ถามค้านว่า เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของผู้ตายบางส่วนยังมิได้แบ่งให้แก่ทายาทคนอื่นอันเจือสมกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ที่ยืนยันว่านับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นเลย ซึ่งเมื่อนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในวันที่ 22 มีนาคม 2544 จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2546 ที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงย่อมเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว แต่ผู้ร้องก็ไม่ยอมแบ่งไม่ว่จะเป็นเงินฝากธนาคารหรือทรัพย์สินอื่นของผู้ตายตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ร.10 ที่ผู้ร้องนำสืบและฎีกาอ้างว่าผู้ร้องได้ขายทรัพย์มรดกบางส่วนและเบิกเงินจากธนาคารไปชำระหนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของผู้ตายและแบ่งปันเงินให้แก่หุ้นส่วนในการทำกิจการค้าของผู้ตายซึ่งก็ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้กองมรดกได้ทั้งหมดนั้นคงเป็นเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ของผู้ร้องเอง โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นหรือแม้แต่บัญชีรายรับรายจ่ายที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่าได้จัดทำไว้แล้วมาแสดงสนับสนุน ข้ออ้างของผู้ร้องดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านทั้งสามร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 และขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทนนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งถอนได้ ก็ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วตั้งผู้คัดค้านที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่เสมอไปศาลอาจจะไม่ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมแต่ให้ตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้หากเห็นว่าจะเป็นการทำให้ทายาททุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากกองมรดกด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด ข้อเท็จจริงปรากฏในทางพิจารณาว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอยู่เดิมมีเจตนาปกปิดจำนวนทายาทที่แท้จริงและละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ อันอาจเกิดความเสียหายแก่ทายาทอื่น ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 แม้จะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยไปเยี่ยมเยียนผู้ตายเลย แม้ขณะเมื่อผู้ตายป่วยก็ไม่เคยไปดูแลทั้งเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ไปร่วมงานศพ และไม่มีส่วนออกค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพของผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 อาจจะไม่ค่อยมีความผูกพันหรือได้รับความไว้วางใจจากผู้ตายมากนัก การจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 คนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้จัดการมรดกเพียงลำพังจึงอาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่อีกฝ่ายและไม่เกิดประโยชน์แก่กองมรดกสมดังเจตนาของผู้ตายขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ที่ผู้ร้องฎีกาว่า หากตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องอาจจะมีปัญหาความเป็นปรปักษ์ต่อกันและมีความคิดเห็นแตกต่างกันจนไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ อันจะเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกต่อไปนั้น เห็นว่า หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้มีส่วนได้เสียก็อาจจะร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้เช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726, มาตรา 1727 และมาตรา 1731 จึงหาเป็นข้อขัดข้องดังที่ผู้ร้องฎีกาอ้างไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ผู้ร้องอ้างมีรูปเรื่องและข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”
สรุป
แม้การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องก็ตาม แต่การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และมาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจหรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุดและให้สมดังเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์ดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อฟังว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตายอันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งได้แล้ว
นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นเลย ซึ่งเมื่อนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
การที่ผู้คัดค้านทั้งสามร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทนนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งถอนได้ ก็ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลอาจจะไม่ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมแต่ให้ตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้หากศาลเห็นว่าจะเป็นการทำให้ทายาททุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากกองมรดกด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอยู่เดิมมีเจตนาปกปิดจำนวนทายาทที่แท้จริงและละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ แต่ก็ปรากฏว่าก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยไปเยี่ยมเยียนผู้ตายเลย แม้ขณะผู้ตายป่วยก็ไม่เคยไปดูแล ทั้งเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ไปร่วมงานศพ และไม่มีส่วนออกค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพของผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 อาจจะไม่ค่อยมีความผูกพันหรือได้รับความไว้วางใจจากผู้ตายมากนัก การจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 คนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้จัดการมรดกเพียงลำพังจึงอาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่อีกฝ่ายและไม่เกิดประโยชน์แก่กองมรดกสมดังเจตนาของผู้ตาย เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน