โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองเพียงผู้เดียว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ต. และเด็กชาย ป. บุตรทั้งสองเพียงผู้เดียว ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 มีบุตรด้วยกัน 2 คนคือ เด็กชาย ต. กับเด็กชาย ป. เดิมโจทก์จำเลยรวมทั้งบุตรชายทั้งสองกับ เด็กหญิง ร. บุตรโจทก์ที่เกิดจากสามีคนก่อนอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2555 ขณะที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่วิสัญญีพยาบาล ที่โรงพยาบาลที่โจทก์ทำงานอยู่ นางสาว ร. ไปผ่าตัดคลอดบุตรที่โรงพยาบาลดังกล่าวโดยมีข้อเท็จจริงปรากฏในเอกสารประวัติและสมุดบันทึกการตั้งครรภ์ของนางสาว ร. ว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรในครรภ์ โดยนางสาว ร. ยืนยันว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรในครรภ์ตน โจทก์กับจำเลยจึงทะเลาะกันอย่างรุนแรงจนแยกกันอยู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาประมาณกลางปี 2557 จำเลยขอคืนดีกับโจทก์ โจทก์เห็นแก่ครอบครัวจึงพาบุตรกลับไปอยู่ร่วมกับจำเลยอีกครั้งเป็นเวลาเกือบสามปี ในระหว่างช่วงเวลานี้จำเลยทะเลาะวิวาทกับพี่สาวและพี่ชายของโจทก์ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับโจทก์โดยมีความรุนแรงถึงขนาดฟ้องร้องกันทั้งทางแพ่งและอาญา โจทก์และจำเลยก็มีเรื่องทะเลาะกันหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 โจทก์และเด็กชาย ต. กับเด็กหญิง ร. ออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น หลังจากนั้นในวันที่ 23 ตุลาคม 2560 โจทก์ จำเลย เด็กหญิง ร. เด็กชาย ต. และเด็กชาย ป. ร่วมเดินทางไปเที่ยวและพักค้างคืนด้วยกันที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และวันที่ 2 ธันวาคม 2560 จำเลยพาโจทก์และบุตรทั้งสามไปเที่ยวและพักค้างคืนด้วยกันอีกที่จังหวัดมุกดาหาร
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนางสาว ร. นั้น จำเลยไม่ได้ยกย่องนางสาว ร. เป็นภริยา และไม่ได้เป็นผู้แจ้งว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรที่เกิดกับนางสาว ร. การที่โจทก์ จำเลย กับเด็กหญิง ร. เด็กชาย ต. และเด็กชาย ป. ไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนด้วยกันนั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ผ่านมาแล้ว ทั้งเมื่อโจทก์พาลูก ๆ กลับมาอยู่ร่วมกับจำเลยอีกครั้ง ในระหว่างนั้นจำเลยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับพี่น้องของโจทก์หลายครั้ง เป็นเหตุให้โจทก์กับจำเลยมีเรื่องขัดแย้งทะเลาะกันด้วย เวลาที่โจทก์จำเลยทะเลาะกัน โจทก์ก็จะหนีออกจากบ้านไปอยู่กับพี่สาว เมื่อหายโกรธแล้วก็จะกลับมาคืนดีกับจำเลย เป็นเช่นนี้อยู่เนือง ๆ จำเลยไม่เคยขับไล่โจทก์และบุตรออกจากบ้าน กรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะฟ้องหย่าได้ เหตุที่โจทก์ฟ้องหย่าเป็นเพราะโจทก์ต้องการมีสามีใหม่ ในปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า หลังจากเดือนกรกฎาคม 2555 ที่โจทก์ทราบเรื่องที่นางสาว ร. แจ้งทางโรงพยาบาลที่โจทก์ทำงานอยู่ว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรในครรภ์นางสาว ร. แล้ว โจทก์กับจำเลยทะเลาะกันอย่างรุนแรงจนมีการตัดความสัมพันธ์และแยกกันอยู่จนถึงประมาณกลางปี 2557 จำเลยขอคืนดีกับโจทก์และให้โจทก์กลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวอีกครั้ง โจทก์ยินยอมโดยกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวอีกเป็นเวลาเกือบสามปี ระหว่างนั้นจำเลยทะเลาะวิวาทกับพี่น้องของโจทก์ถึงขนาดฟ้องร้องกันทั้งทางแพ่งและอาญา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2560 จำเลยขับไล่โจทก์ เด็กชาย ต. และเด็กหญิง ร. ออกจากบ้านเพราะจำเลยหมดรักโจทก์ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากอยู่ด้วย โจทก์จึงพาเด็กชาย ต. และเด็กหญิง ร. ออกไปอยู่ที่อื่นจนถึงปัจจุบัน ส่วนจำเลยนำสืบยอมรับว่ามีเรื่องทะเลาะกับพี่น้องของโจทก์ถึงขนาดฟ้องร้องกันจริง แต่จำเลยไม่เคยยกย่องนางสาว ร. ฉันภริยา จำเลยไม่เคยขับไล่โจทก์และบุตรออกจากบ้าน โจทก์พาบุตรออกไปจากบ้านโดยไม่ทราบสาเหตุ จำเลยไม่ได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกิน 1 ปี หลังจากโจทก์ออกจากบ้านไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560 และวันที่ 2 ธันวาคม 2560 จำเลยพาโจทก์กับบุตรทั้งสามไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนร่วมห้องเดียวกันโดยโจทก์จำเลยนอนเตียงเดียวกันด้วย เห็นว่า เรื่องนางสาว ร. นั้น เป็นเรื่องเดิมที่เป็นมูลเหตุสำคัญทำให้โจทก์กับจำเลยต้องทะเลาะกันอย่างรุนแรงจนถึงขนาดที่โจทก์ตัดสินใจออกจากบ้านที่อยู่กับจำเลยและบุตรอีกสามคนไปอยู่ที่หอพักพยาบาลกับเพื่อนเป็นเวลานานเกือบสามปี เชื่อได้ว่าเรื่องนางสาว ร. เป็นเรื่องจริงตามที่โจทก์อ้าง อย่างไรก็ตามเมื่อประมาณกลางปี 2557 จำเลยขอคืนดีกับโจทก์ โจทก์คำนึงถึงสถาบันครอบครัวจึงยอมกลับมาอยู่ร่วมกับจำเลยและบุตรทั้งสามอีกครั้งหนึ่ง แต่ในระหว่างที่โจทก์กลับมาอยู่ร่วมกับจำเลยและครอบครัวอีกครั้งนั้นก็เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันระหว่างจำเลยกับพี่น้องของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินหลายครั้งถึงขนาดมีการฟ้องร้องกันทั้งทางแพ่งและอาญา ทำให้เกิดปัญหาลุกลามมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจนทั้งสองฝ่ายต้องทะเลาะกันเองหลายครั้ง จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2560 โจทก์ต้องพาเด็กชาย ต. และเด็กหญิง ร. ออกจากบ้านไปอยู่กับพี่สาว ในส่วนนี้โจทก์เบิกความว่า จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้านด้วยสาเหตุว่า หมดรักแล้ว ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากอยู่ด้วยให้โจทก์ขนของออกจากบ้านภายในสามวัน โจทก์จึงพาเด็กชาย ต. และเด็กหญิง ร. ย้ายออกจากบ้านไปโดยไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สำนักงานตำรวจภูธรวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เด็กหญิง ร. และเด็กชาย ต. เบิกความเป็นพยานโจทก์เช่นเดียวกันว่า ถูกจำเลยขับไล่ออกจากบ้าน ส่วนจำเลยเบิกความว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 โจทก์พาเด็กหญิง ร. กับเด็กชาย ต. ออกไปจากบ้านโดยไม่ทราบสาเหตุ จำเลยไม่เคยขับไล่โจทก์และบุตรทั้งสองออกจากบ้าน เห็นได้ว่าหลังจากโจทก์กลับมาอยู่กับจำเลยและบุตรทั้งสามแล้ว โจทก์กับจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันหลายครั้งแต่ก็ไม่ถึงขั้นที่โจทก์จะต้องพาบุตรออกจากบ้านไปแต่อย่างใด ส่วนจำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า ไม่ทราบว่าโจทก์ออกจากบ้านเพราะเหตุใด ที่โจทก์และเด็กหญิง ร. กับเด็กชาย ต. เบิกความตรงกันว่า จำเลยขับไล่ทั้งสามคนออกจากบ้านโดยโจทก์ได้นำเรื่องไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจด้วยจึงมีน้ำหนักให้เชื่อถือยิ่งกว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้านจริง ส่วนที่ได้ความว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560 และวันที่ 2 ธันวาคม 2560 จำเลยพาโจทก์กับบุตรทั้งสามคนไปเที่ยวพักผ่อนมีการค้างคืนโดยนอนร่วมห้องเดียวกันและจำเลยกับโจทก์นอนเตียงเดียวกันด้วยนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยช่วยกันดูแลให้ความอบอุ่นแก่บุตรในฐานะบิดามารดาเท่าที่พอจะเป็นไปได้สำหรับครอบครัวที่บิดามารดาแยกกันอยู่ ทั้งปรากฏว่าหลังจากจำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้านแล้วก็มีเพียงการไปเที่ยวค้างคืนด้วยกันสองครั้งที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) ทั้งการที่จำเลยพาโจทก์และบุตรทั้งสามไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนด้วยกันตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงการดูแลให้ความอบอุ่นแก่บุตรตามสมควรเท่านั้นยังไม่เพียงพอให้ถือว่าเป็นการที่โจทก์ได้ให้อภัยจำเลยในเหตุที่โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า โจทก์สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ต. และเด็กชาย ป. บุตรทั้งสองเพียงผู้เดียวตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาหรือไม่นั้น ได้ความว่าโจทก์มีอาชีพรับราชการ ถือได้ว่าเป็นอาชีพมั่นคงมีรายได้แน่นอน ส่วนจำเลยนั้นโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่มีอาชีพแม้จำเลยอ้างว่าตนมีอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ก็ถือเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่มั่นคงเท่ากับโจทก์ ประกอบกับได้ความว่าโจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ต. ซึ่งอยู่กับโจทก์ในทุกเรื่อง ทั้งยังอุปการะดูแลชำระค่าเทอมและให้ค่าใช้จ่ายรายวันแก่เด็กชาย ป. ซึ่งอยู่กับจำเลยด้วย เด็กชาย ต. ซึ่งอยู่กับโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะส่อไปในทางไม่เหมาะสมอย่างใดทั้งสิ้น ส่วนเด็กชาย ป. ซึ่งอยูในความดูแลของจำเลยกลับมีอุปนิสัยเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าวเอาแต่ใจ และขาดเรียนบ่อยครั้ง นอกจากนี้การให้บุตรทั้งสองซึ่งเป็นพี่น้องกันได้อยู่ใกล้ชิดร่วมกัน รวมทั้งได้อยู่กับมารดาและพี่สาวอีกคนซึ่งเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ก่อนน่าจะเป็นผลดียิ่งกว่า ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์จะมีสามีใหม่นั้น จำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนแต่อย่างใด ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ต. และเด็กชาย ป. บุตรทั้งสองเพียงผู้เดียวนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584/1 บัญญัติว่า บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม ฉะนั้น จำเลยซึ่งเป็นบิดายังคงมีสิทธิติดต่อกับบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป
การที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) การที่จำเลยพาโจทก์และบุตรทั้งสามไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนด้วยกันเป็นเพียงการดูแลให้ความอบอุ่นแก่บุตรตามสมควรเท่านั้นยังไม่เพียงพอให้ถือว่าเป็นการที่โจทก์ได้ให้อภัยจำเลยในเหตุที่โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518โจทก์มีอาชีพรับราชการถือว่าเป็นอาชีพมั่นคงมีรายได้แน่นอน ส่วนจำเลยมีอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาลถือเป็นอาชีพมีรายได้ไม่มั่นคงเท่ากับโจทก์ ประกอบกับได้ความว่าโจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่อยู่กับโจทก์ในทุกเรื่อง ทั้งยังอุปการะดูแลชำระค่าเล่าเรียนและให้ค่าใช้จ่ายรายวันแก่บุตรอีกคนซึ่งอยู่กับจำเลยด้วย บุตรที่อยู่กับโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะส่อไปในทางไม่เหมาะสม ส่วนบุตรที่อยูในความดูแลของจำเลยกลับมีอุปนิสัยเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าวเอาแต่ใจ และขาดเรียนบ่อยครั้ง นอกจากนี้การให้บุตรทั้งสองซึ่งเป็นพี่น้องกันได้อยู่ใกล้ชิดร่วมกัน รวมทั้งได้อยู่กับมารดาและพี่สาวซึ่งเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ก่อนน่าจะเป็นผลดียิ่งกว่า จึงเห็นควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองเพียงผู้เดียว แต่จำเลยซึ่งเป็นบิดายังคงมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1584/1
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 0891427773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th