Home ทั้งหมด ภรรยาไม่ได้ทำงาน ฟ้องเรียก ค่าเลี้ยงดูจากสามีได้หรือไม่

ภรรยาไม่ได้ทำงาน ฟ้องเรียก ค่าเลี้ยงดูจากสามีได้หรือไม่

1828

ภรรยาไม่ได้ทำงาน ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากสามีได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยในอัตราเดือนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรสองคนเป็นเงินคนละ 50,000 บาท เนื่องจากบุตรคนโตมีปัญหาสุขภาพจิตดูแลตัวเองไม่ได้และบุตรคนที่สองอยู่ระหว่างศึกษายังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ รวมเป็นเงิน เดือนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยทุกเดือนเป็นเงิน เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2557 (ฟ้องวันที่ 22 ธันวาคม 2557) เป็นต้นไป และให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูอัตราดังกล่าวแก่จำเลยต่อไปทุกวันสิ้นเดือน คำขออื่นของจำเลยให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสครั้งแรกปี 2530 ต่อมาจดทะเบียนหย่าแล้วจดทะเบียนสมรสกันใหม่ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นาย อ. อายุ 28 ปี และนาย พ. อายุ 23 ปี โจทก์และจำเลยประกอบวิชาชีพทันตกรรม มีกิจการทันตคลีนิก ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาโจทก์ย้ายไปทำงานและเปิดคลินิกทันตกรรมที่จังหวัดภูเก็ต

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ตั้งแต่ปี 2550 จำเลยอยู่เฉยไม่ประกอบอาชีพใด ๆ ปี 2555 โจทก์ย้ายไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ต เปิดคลินิกทันตกรรม ปี 2557 โจทก์มาเรียนวิชาชีพเฉพาะทางการฝังรากเทียมที่โรงพยาบาล ว. และการจัดฟันที่โรงแรม น. กรุงเทพมหานคร จำเลยมารบกวนการเรียนของโจทก์โดยแสดงตัวเป็นภริยา จนทันตแพทย์ที่มาเรียนและอาจารย์ที่สอนพูดว่าภริยาต้องมาคุมตัว ทำให้โจทก์อับอายและเสียชื่อเสียงจนไม่สามารถเรียนต่อไปได้ นอกจากนั้นจำเลยเอาเครื่องมือทันตกรรมและรถยนต์ส่วนตัวของโจทก์ไป ยังไม่นำมาคืน ปี 2555 จำเลยกับบุตรชายคนโตทะเลาะกัน จำเลยเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมาจัดการกับบุตรชายคนโตเพื่อข่มขู่ให้ยอมจำนนต่อการกระทำของจำเลย โจทก์ต้องโทรศัพท์ให้น้องชายของโจทก์ไปรับบุตรชายคนโตมาอยู่ด้วยเป็นเวลา 3 ปี ปี 2558 จำเลยปลอมแปลงเอกสารของโจทก์ นาย ท. น้องชายของโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นผู้ไปรับบุตรชายคนโตของโจทก์มาอยู่ด้วยเป็นเวลา 3 ปี เพราะเห็นว่าจำเลยกับบุตรชายคนโตทะเลาะกัน บุตรชายคนโตของโจทก์กลับไปอยู่กับจำเลยในปี 2559 ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่า ขณะบุตรชายคนโตอยู่ในครรภ์ตัวโตมาก จำเลยอุ้มท้องหนักมากทำให้เป็นโรคปวดกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพกหลุด จึงไม่ได้ทำงาน แต่ทำงานบ้านและเลี้ยงดูบุตร บุตรชายคนโตมีอาการทางจิตเป็นโรคซึมเศร้า ชอบเก็บตัวอยู่ในห้องและอาละวาดบางครั้ง หลังจากคลอดบุตรชายคนที่ 2 จำเลยยืนทำงานไม่ได้นาน แต่พยายามทำงานหารายได้ไปเปิดคลินิกทันตกรรมที่จังหวัดบุรีรัมย์ แต่เหน็ดเหนื่อยมากจากการเดินทางและอาการปวดหลังกำเริบอีกจึงต้องเลิกกิจการ แล้วมาเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจสำเร็จ แล้วปี 2548 ได้ทำงานเป็นผู้บริหารบริษัท ส่วนโจทก์ทำคลินิกที่กรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ไม่สามารถจัดการคลินิก ทีมงานทันตแพทย์แตกแยก คนไข้หนีหายไป จำเลยต้องลาออกจากงาน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่คลินิกได้ทันเวลา คลินิกต้องปิดตัวลง ปี 2554 โจทก์หายไปจากบ้าน ทิ้งจำเลยและบุตรไว้โดยไม่สามารถติดต่อได้นาน 3 เดือน จำเลยออกตามหาจนพบว่าโจทก์ไปทำงานที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต มีรายได้เดือนละ 200,000 ถึง 300,000 บาท จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง และมีเพศสัมพันธ์กัน โจทก์กลับมาบ้านที่กรุงเทพบ้างในช่วงวันหยุดและช่วงเทศกาล จำเลยเดินทางไปหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ตบ้าง และยังมีเพศสัมพันธ์กัน ปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 โจทก์ให้จำเลยลงชื่อยินยอมให้โจทก์กู้เงินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 10,000,000 บาท อ้างว่าจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน หลังจากนั้นจำเลยไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้ โรงพยาบาล ส. แจ้งว่าโจทก์ลาออกแล้ว วันที่ 17 เมษายน 2557 จำเลยไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบว่าโจทก์เปิดคลินิกทันตกรรมขนาดใหญ่ โดยหลอกจำเลยให้ลงชื่อยินยอมให้โจทก์กู้เงินจากธนาคารนำเงินมาลงทุนเปิดคลินิก ในคลินิกมีนางสาว ก. นั่งหน้าเคาน์เตอร์ เมื่อขึ้นไปชั้นบนก็มีห้องพักของนางสาว ก. อยู่หน้าห้องนอนของโจทก์ คล้ายอยู่กินด้วยกัน จำเลยเฝ้าอยู่ 3 ถึง 4 วัน ไม่พบโจทก์และไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก โจทก์ไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายใด ๆ ในครอบครัวอีกเลย ต่อมาทราบว่าโจทก์เดินทางมาเรียนต่อที่โรงพยาบาล ว. จำเลยจึงไปดักพบ แต่โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย ต่อมาทราบว่าโจทก์เดินทางมาเรียนต่ออีกที่โรงแรม น. จำเลยไปรอพบ แต่พบนางสาว ก. กับนางสาว ฟ. นั่งรอโจทก์ที่หน้าห้องเรียน จำเลยเข้าไปพบโจทก์ในห้องเรียน โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยจึงเดินออกมา พบนางสาว ก. กับนางสาว ฟ. ยังนั่งรออยู่ จำเลยจะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพบุคคลทั้งสอง นางสาว ก. เข้ามาตบตีทำร้ายจำเลย จำเลยโทรศัพท์แจ้งไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เจ้าพนักงานตำรวจมาเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจ เมื่อไปถึงสถานีตำรวจนางสาว ก. ตะโกนด่าจำเลยว่า “อีหน้าด้าน ผู้ชายไม่เอาแล้วยังมาเอาอะไรอีก เดี๋ยวกูจะเอารองเท้าตบหน้ามึง” โจทก์มาขอร้องไม่ให้จำเลยเอาเรื่องกับนางสาว ก. อ้างว่าโจทก์จะกลับมาคุยกันและจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเช่นเดิม จำเลยใจอ่อนจึงไม่ดำเนินคดีกับนางสาว ก. ปี 2558 สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ มีหนังสือลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 แจ้งว่าใบอนุญาตให้ประกอบกิจการคลินิกทันตกรรมจะครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ขอให้ดำเนินการต่อใบอนุญาต จำเลยไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้จึงลงชื่อตนเองในใบคำขอใบแทนใบอนุญาต รถยนต์เก๋งวอลโว่ มารดาจำเลยซื้อให้จำเลยโดยใช้ชื่อน้องสาวจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อ รถยนต์เก๋งฮอนด้า บิดามารดาจำเลยก็ซื้อให้จำเลยใช้ ส่วนเครื่องมือทันตกรรมในคลินิกที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จำเลยร่วมกันซื้อ เมื่อโจทก์ทิ้งคลินิกไปกลายเป็นคลินิกร้าง ทำให้เครื่องมือชำรุด และกลายเป็นเครื่องมือเก่าตกรุ่น โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้อีก นาง ส. มารดาจำเลยเบิกความว่า บ้านและคลินิกที่กรุงเทพมหานครเป็นสินสอดที่โจทก์มอบให้ตอนสมรสโดยใส่ชื่อโจทก์ในโฉนด และมอบโฉนดให้พยานในวันทำพิธีสมรส พยานซื้อรถยนต์เก๋งวอลโว่ให้จำเลยใช้ และซื้อคอนโดมิเนียมโครงการลุมพินีเพลสไว้ให้หลานชาย 2 คน พักระหว่างรอจำเลยมารับกลับบ้าน มารดาโจทก์เคยรับหลานชายคนโตไปเลี้ยงตอนอายุ 1 ถึง 2 ปี แต่เลี้ยงอย่างตามใจ เมื่อหลานชายคนโตกลับมาอยู่กับจำเลยจึงมีปัญหาทะเลาะกันและมีอาการทางจิตชอบอาละวาดกับจำเลยเป็นประจำ พยานออกเงินช่วยเหลือครอบครัวโจทก์จำเลยหลายครั้ง รวมกันหลายล้านบาทเพราะโจทก์ไม่จ่ายเงินให้จำเลย เห็นว่า โจทก์หายไปจากบ้าน ทิ้งจำเลยกับบุตร 2 คน อยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน โดยไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามหาจนพบว่าโจทก์ไปทำงานที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง โจทก์เดินทางกลับมาบ้านที่กรุงเทพช่วงวันหยุดและวันเทศกาล โดยโจทก์กับจำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน โจทก์เองฎีกายอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์กับจำเลยครั้งหนึ่งแต่ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา อย่างไรก็ดีการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์กันได้ ข้ออ้างของโจทก์ข้อนี้ยากที่จะรับฟัง เมื่อโจทก์ลาออกจากโรงพยาบาล ส. โจทก์ให้จำเลยลงชื่อยินยอมให้โจทก์กู้เงินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 10,000,000 บาท นำเงินไปลงทุนเปิดคลินิกทันตกรรมโดยใช้ชื่อโจทก์เป็นชื่อคลินิก โดยไม่บอกให้จำเลยทราบ จำเลยต้องเดินทางไปตามหาที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกดังกล่าวไม่พบตัวโจทก์ พบแต่นางสาว ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ที่ชั้นบนคลินิก จำเลยไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีกเลย จนทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพมหานคร จำเลยจึงไปดักพบที่โรงแรม น. โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการแสดงออกใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควร น่าจะเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจไปเอง เพราะการที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในทางตรงข้ามจำเลยกลับเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยนางสาว ก. ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่นและต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจ แต่เมื่อโจทก์ขอร้อง จำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดีกับนางสาว ก. สำหรับรถยนต์ฮอนด้าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส จำเลยย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ ทั้งยังคงมีรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิอีกคันที่เป็นสินสมรส ฟังว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยนำรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าไปใช้

สำหรับประเด็นเครื่องมือทันตกรรมนั้น โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาว่า เครื่องมือทันตกรรมที่จำเลยเอาไป โจทก์หมายถึงเครื่องมือทันตกรรมในคลินิกที่จังหวัดภูเก็ตไม่ใช่ที่กรุงเทพมหานครตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบเพียงแค่ว่าจำเลยเอาเครื่องมือทันตกรรมไปแต่ไม่ได้ระบุว่านำไปจากที่ใดชัดเจน ข้อฎีกาของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกันให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยหรือไม่เพียงใด โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ค่าเลี้ยงชีพจำเลยไม่เกินกว่าเดือนละ 20,000 บาท ส่วนค่าเลี้ยงดูบุตร 2 คน คนละ 25,000 บาท ต่อเดือน โจทก์เป็นผู้ออกค่าเลี้ยงดูตลอดมา ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่าโจทก์เคยจ่ายเงินให้จำเลยเดือนละ 100,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเลี้ยงดูบุตร 2 คน และค่าใช้จ่ายในครอบครัว ระหว่างปี 2548 ถึง 2549 จำเลยทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทมีรายได้เดือนละ 80,000 บาท ถึง 150,000 บาท แต่ต้องลาออกเพื่อดูแลคลินิกซึ่งโจทก์ดำเนินการเสียหายไว้ เมื่อคลินิกต้องปิดตัวลงและโจทก์หายไปจากบ้าน จำเลยไม่มีรายได้ใด ๆ มาใช้จ่ายในครอบครัวต้องขอยืมเงินจากมารดาและเพื่อน ๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงชีพ โจทก์มีรายได้จากคลินิกที่จังหวัดภูเก็ตเดือนละ 200,000 ถึง 300,000 บาท นาง ส. มารดาจำเลยเบิกความว่าได้ออกเงินช่วยเหลือครอบครัวของโจทก์จำเลยหลายล้านบาท เห็นว่า โจทก์เบิกความยอมรับเองว่าค่าเลี้ยงชีพจำเลยไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าจำเลยเคยประกอบอาชีพที่ร้านทรูช้อป 2 ปี ได้รับรายได้รวม 2 ถึง 3 ล้านบาท และทำงานที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ อ. มีรายได้ 3 ล้านบาท จำเลยนำไปเก็บไว้นั้น แต่จำเลยลาออกจากงานแล้วตั้งแต่ปี 2549 และไม่ได้ทำงานอื่นจึงไม่มีรายได้ คงดำรงชีพอยู่ได้จากความช่วยเหลือของมารดาจำเลย บุตรชาย 2 คน ก็อาศัยอยู่กับจำเลย และจำเลยเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบุตรโดยตลอด ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่เคยเลี้ยงดูบุตรจึงไม่น่าเชื่อถือ และที่โจทก์อ้างว่าการทำคลินิกทันตกรรมย่อมมีค่าใช้จ่ายและต้องผ่อนชำระหนี้สถาบันการเงิน แต่สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ ย่อมเป็นฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดู แต่ไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกันให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 20,000 บาท นั้นเหมาะสมแก่ความสามารถของฝ่ายสามีและฐานะของฝ่ายภริยาแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้งแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Facebook Comments