Home ทั้งหมด จุดต่อสู้คดีฟ้องหย่า ฟ้องชู้ สู้จุดไหนบ้างศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

จุดต่อสู้คดีฟ้องหย่า ฟ้องชู้ สู้จุดไหนบ้างศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

2282

จุดต่อสู้คดีฟ้องหย่า ฟ้องชู้ สู้จุดไหนบ้างศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ เรียกโจทก์ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2

สำนวนแรกจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ป. แต่เพียงผู้เดียว และให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ป. เป็นเงินเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าเด็กหญิง ป. จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ กับให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนาย น. แต่เพียงผู้เดียว

โจทก์ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนาย น. เป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่านาย น. จะบรรลุนิติภาวะ ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ป. เป็นเงินเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าเด็กหญิง ป. จะบรรลุนิติภาวะ และโจทก์ขอสงวนสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองในอนาคตด้วย

จำเลยที่ 1 ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันว่า ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูนาย น. แต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ป. แต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ไปเยี่ยมเยียนนาย น.ได้ตลอดเวลาและจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ไปเยี่ยมเยียนเด็กหญิง ป. ได้ตลอดเวลาเช่นกัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างไม่ติดใจเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2559

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 ชื่อ “อ.” ได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็น “ก.” เมื่อปี 2538 โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากัน ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 จึงจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันอีกครั้ง ในระหว่างสมรส โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นาย น. เกิดวันที่ 19 มีนาคม 2541 และเด็กหญิง ป. เมื่อปี 2550 โจทก์เข้ารับราชการทหาร กรมพลาธิการทหารบก สังกัดกองทัพบก เมื่อปี 2553 โจทก์ถูกย้ายไปประจำการที่ค่ายธนะรัตน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2555 โจทก์ถูกย้ายไปประจำการที่ค่ายลพบุรีราเมศวร์ ตำบลเกาะสะบ้า อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ปัจจุบันโจทก์ถูกส่งไปปฏิบัติราชการสนามที่หน่วยเฉพาะกิจ 25 อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 โจทก์กู้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์กรมพลาธิการทหารบก จำกัด เป็นเงิน 260,000 บาท จากการตรวจเปรียบเทียบสารพันธุกรรมของโจทก์ จำเลยที่ 1 และเด็กหญิง ป. ผลปรากฏว่า เด็กหญิง ป. เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดจากโจทก์จริง ตามรายงานผลการตรวจความสัมพันธ์บิดา – มารดา – บุตรเอกสารท้ายคำร้องฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2559 ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 382/2559 ของศาลชั้นต้น อันดับที่ 36 และคดีเป็นอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระเงิน 180,000 บาท ให้แก่โจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุให้จำเลยที่ 1 หย่าขาดจากโจทก์ตามฟ้องของจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง แต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบมามีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ตามสมควรและกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ คดีในปัญหาข้อนี้จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่มีเหตุหย่าตามฟ้องของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ในสำนวนหลัง โจทก์ก็เป็นฝ่ายกล่าวอ้างเช่นกันว่า โจทก์อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 และบุตรทั้งสอง มิได้กระทำการปฏิปักษ์ในการเป็นสามีภริยา ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์กล่าวอ้างลอย ๆ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่ามีเหตุให้จำเลยที่ 1 หย่าขาดจากโจทก์ตามฟ้องของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้อีกเพราะถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้องประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่ทราบเหตุหย่า สิทธิฟ้องร้องจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ระยะเวลาฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 เป็นสิทธิเฉพาะตัวระหว่างสามีภริยา คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเรียกค่าทดแทนไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 จะขาดจากสมรสหรือไม่ ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 อ้างระยะเวลาดังกล่าวเพื่อไม่ต้องใช้ค่าทดแทนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยในปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ 1 อันทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 บัญญัติว่า “สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่า ได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว” จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องมีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติการณ์อันเป็นการให้อภัยจำเลยที่ 1 ในเหตุหย่าตามฟ้องของโจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ ดังนี้ ในสำนวนจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ 1 อันจะทำให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าว กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ปากนาย น. เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 กลับเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนรักใหม่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งหากไม่เป็นความจริงก็ไม่มีเหตุอันใดที่พยานจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของตนเอง แม้จะได้ความตามฟ้องในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 มีคำขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ป. และขอให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนาย น. แต่เหตุเพียงเท่านี้ไม่น่าจะทำให้นาย น. โกรธเคืองหรือน้อยใจจำเลยที่ 1 ถึงขนาดจะเบิกความบิดเบือนใส่ร้ายจำเลยที่ 1 ว่า มีพฤติกรรมเช่นนี้ ส่วนแผ่นบันทึกเสียง ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงสนทนาระหว่างนาย ช. กับจำเลยที่ 1 ที่ได้จัดทำขึ้นโดยแอบบันทึกเสียงนั้น คดีนี้เป็นคดีแพ่ง มิได้มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามมิให้รับฟังแผ่นบันทึกเสียงที่แอบบันทึกไว้ และนาย ช. เบิกความเป็นพยานต่อศาลเอง จึงเป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับการสนทนาดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนาย ช. เป็นเหตุการณ์โดยบังเอิญที่อาจเป็นไปได้ ไม่ได้ส่อพิรุธให้เห็นว่า เกิดจากการปั้นแต่งขึ้นเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 1 ทั้งสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากนาย น. นาง ส. และตัวโจทก์ด้วย จึงทำให้พยานโจทก์ทั้งสี่ปากมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนพยานฝ่ายจำเลยต่างเบิกความลอย ๆ อีกทั้งนาง อ. กับนาง ณ. เป็นมารดาและเพื่อนของจำเลยที่ 1 อาจเบิกความเพื่อช่วยเหลือกันจึงมีน้ำหนักน้อย สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่า ห้องเลขที่ 594/689 ที่ ป.ปิ่นเกล้าคอนโดมิเนียม โครงการ 2 มิใช่ของจำเลยที่ 2 ส่วนห้องชุดอีก 2 ห้องที่คอนโดมิเนียมดังกล่าวจำเลยที่ 2 มอบหมายให้นางสาว ส. เป็นผู้ดำเนินการให้บุคคลอื่นเช่าไปแล้ว นั้น ล้วนเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 2 เพิ่งอ้างส่งต่อศาลฎีกา จึงเป็นพยานเอกสารที่เข้าสู่สำนวนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามมิให้รับฟัง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ดังกล่าวประกอบกันแล้วย่อมมีน้ำหนักดีว่าพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) และจำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทน 250,000 บาท แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เมื่อพิจารณาข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2559 แล้ว ต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ โดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูนาย น. แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ป. แต่เพียงผู้เดียว โดยต่างฝ่ายต่างยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งไปเยี่ยมเยียนบุตรได้ และไม่ติดใจเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ศาลจึงต้องมีคำพิพากษาตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำพิพากษาถึงข้อตกลงนี้ไว้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ศาลต้องสั่งให้ชัดแจ้งว่า เป็นค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องในสำนวนแรกหรือสำนวนหลังหรือฟ้องแย้ง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งเพียงว่า ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โดยไม่กำหนดให้ถูกต้องครบถ้วน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องแย้งเพียงบางส่วน แต่ในตอนท้ายได้พิพากษาว่า คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จึงเป็นการไม่ชัดแจ้ง และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูนาย น. แต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ป. แต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ไปเยี่ยมเยียนนาย น.ได้ตลอดเวลา และจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ไปเยี่ยมเยียนเด็กหญิง ป. ได้ตลอดเวลาเช่นกัน คำขอตามฟ้องของจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกและตามฟ้องของโจทก์ในสำนวนหลังกับฟ้องแย้งในสำนวนแรกนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องทั้งสองสำนวนในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

สรุป

ป.วิ.พ. ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้รับฟังแผ่นบันทึกเสียงที่แอบบันทึกไว้ ดังนั้น แผ่นบันทึกเสียงสนทนาระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 ที่ ช. จัดทำขึ้นโดยแอบบันทึกเสียงจำเลยที่ 1 ซึ่งยอมรับว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในทำนองชู้สาว โดย ช. มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลเอง ช. จึงเป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับการสนทนาดังกล่าว ศาลจึงรับฟังแผ่นบันทึกเสียงดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ไม่ต้องห้าม

ระยะเวลาการฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 เป็นสิทธิเฉพาะตัวระหว่างสามีภริยาคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเรียกค่าทดแทนไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 จะขาดจากการสมรสหรือไม่ ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 อ้างระยะเวลาดังกล่าวเพื่อไม่ต้องใช้ค่าทดแทนไม่

ปัญหาว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ 1 อันทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ ป.พ.พ. มาตรา 1518 บัญญัติว่า “สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่า ได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว” จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องมีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติการณ์อันเป็นการให้อภัยจำเลยที่ 1 ในเหตุหย่าตามฟ้องของโจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ ในสำนวนจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ 1 อันจะทำให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าว

Facebook Comments